สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดการประชุม เรื่อง “ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ…พลิกโฉมนวัตกรรมงานบริการสาธารณะ”

แชร์หน้านี้

         
        เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562 ณ ห้องกมลทิพย์ 1 ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดการประชุม เรื่อง “ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ…พลิกโฉมนวัตกรรมงานบริการสาธารณะ” โดยมีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ โดยนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้กล่าวถึงห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐไว้ว่า “เมื่อโลกเปลี่ยน...ไทยต้องปรับ” ในโลกของการเปลี่ยนแปลงนั้น ส่งผลให้ประชาชนต้องปรับตัวโดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องมีการปรับปรุงการให้บริการสาธารณะให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการให้บริการโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการออกแบบ “ห้องทดลองภาครัฐ” ภายใต้ชื่อ Prime Minister Labs (PM Labs) อันประกอบไปด้วย 

         1) การสำรวจอนาคต (Future Lab) มีการวิเคราะห์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในทุกมิติ ตลอดจนถึงการให้คำปรึกษาในการปรับเปลี่ยนและพัฒนาองค์กรให้มีศักยภาพในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้

          2) การริเริ่มและทดสอบนโยบาย (Policy Lab) จะทำหน้าที่ในการริเริ่มนโยบายใหม่ๆ โดยการเรียนรู้จากแนวทางการปฏิบัติที่ดีของสถานที่อื่นๆ การทดสอบนโยบายและนวัตกรรมเชิงนโยบายใหม่ๆ (Policy Testing) ตลอดจนถึงร่วมมือในการวางมาตรการในการถ่ายทอดให้นโยบายนั้นไปสู่การปฏิบัติได้

        3) การออกแบบนวัตกรรมภาครัฐ (Government Lab)มีออกแบบบริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพสูงและตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยการยึดหลักการความต้องการของประชาชนผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง และเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเข้ามามีส่วนออกแบบรูปแบบการให้บริการ

    4) การติดตามนโยบายสำคัญ (PMDU) เพื่อให้สามารถติดตามผลการทำงานเชิงนโยบายของรัฐบาลและสามารถระบุถึงปัญหาและอุปสรรคเพื่อให้การทำงานนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในภาครัฐ และพลังความร่วมมือจากภาครัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงจะเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่ตอบโจทไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

         ทั้งนี้ ในการประชุมได้มีการกล่าวถึงความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำโดยนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ร่วมด้วยผู้แทนจาก UNDP Lovita Ramguttee , UNDP Resident Representative. A.I. และผู้แทนเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ริเริ่มโครงการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ หรือ Government Innovation Lab (GovLab) ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนผู้รับบริการมีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรมงานบริการภาครัฐ เป็นการร่วมคิดออกแบบ (Co-creation) เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ อันเกิดจากภาครัฐ โดยนำแนวคิด Design Thinking ซึ่งจะต้องมีการทดสอบ ทดลอง และนำไปขยายผล อันเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของภาครัฐ โดยใช้แนวคิด Design Thinking ประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ การเข้าใจภาพรวม การเข้าถึงความต้องการการพัฒนาและทดสอบแนวคิด และการวางแผนเพื่อนำไปใช้ ในการดำเนินโครงการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้รับความร่วมมือจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ประจำประเทศไทยในการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ความรู้ในเรื่องของการสร้างนวัตกรรมภาครัฐแก่ผู้บริหารหน่วยงานและนวัตกรที่ปรึกษา อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานวัตกรรมต้นแบบของโครงการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ

       โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ GovLab จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการการลดอุบัติเหตุการจราจรทางบก 2) โครงการการแก้ปัญหาด้านการเกษตร : การบริหารจัดการน้ำ 3) โครงการด้านสาธารณสุข 4) โครงการระบบการติดตามผลการร้องเรียน/ร้องทุกข์ของศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย 5) โครงการการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว

         สำหรับปี 2562 มีแผนการดำเนินการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐจำนวน 5 โครงการ ได้แก่ 1) ด้านการท่องเที่ยว ที่มีการพัฒนารูปแบบการอำนวยความสะดวกให้กับมัคคุเทศก์ในการตรวจสอบใบสั่งงานมัคคุเทศก์ (Job Order) 2) ด้านการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส มีการพัฒนารูปแบบการจัดเก็บฐานข้อมูลผู้ด้อยโอกาสที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการพื้นฐานทางสังคมของภาครัฐ และทำให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อการรับบริการจากภาครัฐ 3) ด้านงานตรวจคนเข้าเมือง มีการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการให้บริการการรายงานตัวของแรงงานต่างด้าว รวมทั้งให้ความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น 4) ด้านการศึกษา ที่มีการพัฒนาแนวทางการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ตามกรอบนโยบาย THAILAND 4.0 ที่มุ่งเน้นในเรื่องการเสริมสร้างทักษะ ทัศนคติ ความรู้ความสามารถทั่วไป (aptitude) และความรู้รายวิชา 5) ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ SMEs ที่มีการยกระดับจากการเป็น SMEs สู่การเป็น Internet Entrepreneur ที่มีความเชี่ยวชาญและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และทำความเข้าใจรูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป

       โดยแผนการดำเนินการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐในปีนี้ ครอบคลุมมิติต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ได้แก่ 1) การพัฒนาแนวทางการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ตามกรอบนโยบาย THAILAND 4.0 ที่มุ่งเน้นในเรื่องการเสริมสร้างทักษะ ทัศนคติ ความรู้ความสามารถทั่วไป (aptitude) และความรู้รายวิชา 2) การรายงานตัวของแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในราชอาณาจักร เกิน 90 วัน 3) พัฒนาด้านการท่องเที่ยว 4) การพัฒนารูปแบบการจัดเก็บฐานข้อมูลผู้ด้อยโอกาสที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ Government Innovation Lab จึงเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบราชการไทยให้สามารถมีความสามารถที่จะรับมือกับความท้าทาย และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอนาคต ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในการสรรสร้างนโยบาย และบริการสาธารณะซึ่งสามารถตอบสนองกับสภาพปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของประชาชน

        ในส่วนของ Lovita Ramguttee จาก UNDP ได้กล่าวไว้ว่า ที่ผ่านมามีหลายโครงการที่ UNDP สนับสนุนรัฐบาลไทย และมีเครือข่ายร่วมกันดำเนินงานกันในหลายประเทศ มีการปฏิรูประบบราชการ และมีการยกสมรรถนะในการทำงานของรัฐ โดยความร่วมมือระหว่าง UNDP กับรัฐบาลไทยนี้ หวังว่าจะนำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ๆที่ตอบสนองต่อความต้องการประเทศไทย และจะช่วยให้เกิดการร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน ในปีนี้ได้มีการดำเนินโครงการ 5 โครงการ การเรียนรู้ต่างๆจากโครงการต่างๆเหล่านี้ในประเทศไทยจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับต่อยอดไปยังประเทศอื่นๆ และขยายผลไปในวงกว้าง

        สำหรับผู้แทนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการริเริ่มและทดสอบนโยบาย (Policy Lab) โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาเมือง การพัฒนา SMEs การลดความเหลื่อมล้ำ และมีการระดมความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และระดมความร่วมมือของประชาชน โดยสิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้ คือการริเริ่มทดลองปฏิรูประบบการทำงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก่อน แล้วจะมีการขยายผลไปต่อในหน่วยงานต่างๆ ในระดับนโยบาย มีการยกระดับ
นโยบายสาธารณะของประเทศ ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์ให้ครอบคลุมในการบริการภาครัฐ และการเป็นรัฐบาล 4.0

      นอกจากนี้ได้มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง การเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมการบริการสาธารณะ โดย Giulio Quaggiotto NESTA, Director of Regional Innovation Center, Thailand และมีการนำเสนอผลการดำเนินการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐในโครงการต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การลดอุบัติเหตุรถสาธารณะระหว่างเมืองบนท้องถนน การสื่อสารข้อมูลปริมาณน้ำสำหรับเกษตรกร ชุดข้อมูลสุขภาพและการรักษาสำหรับติดตัวผู้ป่วย ระบบการติดตามผลการร้องเรียน/ร้องทุกข์ของศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย
การลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว รายงานตัว 90 วันของแรงงานต่างด้าว และการปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอน รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถอดบทเรียนการดำเนินการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ และการระดมสมองเพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการนวัตกรรมงานบริการภาครัฐ ปี พ.ศ. 2562 จากหน่วยงานต่างๆ



กลุ่มงานเลขานุการ ก.พ.ร. และการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ