สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย THAILAND 4.0 ครั้งที่ 1/2562

แชร์หน้านี้

         
      เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล สำนักงาน ก.พ.ร. จัดการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย THAILAND 4.0 ครั้งที่ 1/2562 โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

      การประชุมสรุปสาระสำคัญได้ว่า การขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย THAILAND 4.0 มีความก้าวหน้าใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นแรกการปฏิรูประบบราชการ พัฒนาก้าวหน้าใน 3 ด้าน ได้แก่

        1. การปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการภาครัฐ ก้าวหน้าในหลายเรื่อง เช่น 
          (1) การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ลดคำขอค้างที่ยื่นก่อนวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ได้ทั้งหมดรวมกว่า 8,000 คำขอ และลดระยะเวลาการพิจารณาคำขอลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 20 
             (2) การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ขจัดคำขอค้างสะสมสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ในภาพรวมลดลงได้ร้อยละ 19 
             (3) การจดทะเบียนที่ดินของกรมที่ดินลดระยะเวลาดำเนินการรังวัดให้ไม่เกิน 60 วัน ระยะเวลารอคิวรังวัดทั่วประเทศเฉลี่ย 39 วัน 
             (4) การนำเข้าและส่งออกของกรมศุลกากร ให้บริการระบบ Single Form สินค้าวัตถุอันตรายแบบ G2G เชื่อมโยงข้อมูลครบ 100% 
             (5) ธุรกิจพาณิชยนาวีของกรมเจ้าท่า นำระบบ e-Payment มาใช้ในการจ่ายค่าธรรมเนียม 
             (6) VISA & Work Permit ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการขยายขอบเขตของ SMART VISA ให้ครอบคลุมกลุ่มบุคคลมากขึ้น

         2. การพัฒนาและการรังสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบใหม่ มีความก้าวหน้า เช่น 
             (1) การแก้ไขพื้นที่ป่าและการใช้ประโยชน์พื้นที่จังหวัดน่านและกลไกการบริหารจัดการ ได้สร้างความรู้ความเข้าใจการดำเนินการ Nan Sandbox
เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาให้มีเอกภาพและยั่งยืน 
        (2) โรงเรียนร่วมพัฒนา เริ่มดำเนินการแล้ว ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 มีสถานศึกษาในโครงการ จำนวน 50 โรงเรียน ใน 34 จังหวัด มีผู้สนับสนุนจากภาคเอกชน จำนวน 11 บริษัท 1 มูลนิธิ และรุ่นที่ 2 จะเริ่มดำเนินการในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 184 โรงเรียน ใน 28 จังหวัด มีผู้สนับสนุนจากภาคเอกชน จำนวน 11 บริษัท 

        3. การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ ได้เริ่มมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานเจ้าของข้อมูลบางหน่วยงานที่มีความพร้อมสำหรับการเชื่อมโยงข้อมูลแล้ว

         ประเด็นที่สอง 2 ประเด็นการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 สนับสนุนงานสร้างกระบวนทัศน์และหลักคิด ผ่านภาคีเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวกับคุณลักษณะ 5 ประการ ได้แก่ ความพอเพียง ความมีวินัย ความสุจริต จิตสาธารณะ และความรับผิดชอบ
         นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาให้ดำเนินโครงการหรือแนวทางการพัฒนาในอีกหลายด้าน ได้แก่ 
          1. ยกระดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (STEM) โดยยกระดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยาวชนไทยควบคู่กับการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สู่ประเทศไทย 4.0 ในแนวทางต่าง ๆ
       2. การพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี มุ่งพัฒนาสินทรัพย์บนพื้นที่ที่มีศักยภาพอย่างย่านโยธี เพื่อผลักดันการใช้งานนวัตกรรมด้านการแพทย์ของกลุ่มบุคลากรวิจัย นวัตกรรม ด้านการแพทย์ย่านโยธีอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

     4. การขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG in Action) โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนใน 5 ส่วนหลัก และ 3 ภูมิภาค ได้แก่ พลังงานและวัสดุชีวภาพ สุขภาพการแพทย์ เกษตรและอาหาร การท่องเที่ยว และดิจิทัลและไอโอที ซึ่งจะได้นำแนวทางทั้ง 5 ส่วนหลักไปขับเคลื่อนในส่วนภูมิภาค โดยพิจารณาให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่

  5. การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ให้การดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเสนอผ่านทางคณะกรรมการ ป.ย.ป. และจัดตั้งคณะอนุกรรมการ ป.ย.ป. ด้านพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นที่ปรึกษา ทำหน้าที่เป็น Executive Committee พิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และกำหนดโจทย์ในการวิจัยและพัฒนา พร้อมทั้งให้สำนักงาน ป.ย.ป. เป็นฝ่ายเลขานุการฯ เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ดำเนินการไปอย่างมีเอกภาพ มีประสิทธิภาพ และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

   6. การพัฒนาสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ ให้กำหนดเรื่องการพัฒนาสมุนไพรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นวาระแห่งชาติ และให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง 10 กระทรวง ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาค ASEAN ภายในปี พ.ศ. 2564 มูลค่าของวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว (จาก 180,000 ล้านบาท เป็น 360,000 ล้านบาท) ภายในปี พ.ศ. 2564        


กลุ่มวิเทศสัมพันธ์และการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ