สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับธนาคารโลกดำเนินโครงการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ระยะที่ 3 (Doing Business Phase 3) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางและจัดทำข้อเสนอแนะในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจของประเทศไทย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 ถึงเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งคณะที่ปรึกษาจากธนาคารโลกได้ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนากระบวนการตรวจสอบภาษีและระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศไทยเสร็จเรียบร้อยแล้ว
สำนักงาน ก.พ.ร. จึงจัดการประชุมเพื่อรับฟังการนำเสนอผลการศึกษาของโครงการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ระยะที่ 3 (Doing Business Phase 3) จากธนาคารโลก โดยมี นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานการประชุม และมีทีมที่ปรึกษาจากธนาคารโลก ผู้แทนจากกรมสรรพากร กรมบัญชีกลาง และสำนักงาน ก.พ.ร. เข้าร่วมการประชุม เมื่อวันที่ 7 และ 9 มีนาคม 2566 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ สรุปสาระสำคัญดังนี้
หัวข้อ การพัฒนากระบวนการตรวจสอบภาษีของประเทศไทย ประชุมเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 โดยธนาคารโลกมีข้อค้นพบและข้อเสนอแนะ ดังนี้
- กรมสรรพากรมีการกำหนดเกณฑ์และคู่มือการตรวจสอบภาษี แต่ยังขาดการปรับปรุงเกณฑ์ให้สอดคล้องกับหลักการบริหารความเสี่ยงในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Compliance Risk Management: CRM) สมัยใหม่ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่นานาประเทศใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบภาษีที่จะช่วยให้การตรวจสอบภาษีมีความโปร่งใส ถูกต้องและรวดเร็วมากขึ้น
- กรมสรรพากรควรนำหลัก CRM สมัยใหม่มาปรับใช้ในการบริหารความเสี่ยงด้านภาษี เช่น การพัฒนาการลงทะเบียนความเสี่ยงในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Compliance Risk Register) โดยอาจเริ่มจากการนำมาใช้กับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมีจำนวนไม่มาก นอกจากนี้ ควรมีแนวทางในการบริหารความเสี่ยงที่หลากหลายสำหรับแต่ละกรณีที่อาจมีความเสี่ยงแตกต่างกันเพื่อให้เกิดความถูกต้องและลดระยะเวลาในการตรวจสอบภาษีกรณีที่มีความเสี่ยงไม่มาก
- กรมสรรพากรควรมีการควบคุมคุณภาพการตรวจสอบภาษีโดยการอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน เพื่อให้การตรวจสอบภาษีมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน
- กรมสรรพากรควรทำงานร่วมกับสำนักงานประกันสังคมในการตรวจสอบบัญชีเงินเดือนของผู้ที่ขึ้นทะเบียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบภาษี
หัวข้อ การพัฒนาระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศไทย ประชุมเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 โดยธนาคารโลกมีข้อค้นพบและข้อเสนอแนะ ดังนี้
- นับจากการแพร่ระบบของโรคโควิด-19 ประเทศไทยมีความคืบหน้าเป็นอย่างมากในการปรับปรุงระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐซึ่งช่วยให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐรวดเร็วและโปร่งใสขึ้นมาก
- ผู้ยื่นมีระยะเวลาในการเตรียมเอกสารก่อนการยื่นซองข้อเสนอน้อยเกินไป ทำให้มีผู้ยื่นหลายรายเตรียมเอกสารไม่ทัน ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม จึงควรเพิ่มระยะเวลาให้เหมาะสมกว่านี้
- กรมบัญชีกลางควรพัฒนาระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ โดยการเพิ่มฟังก์ชันการสนทนาระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ค้าแทนการใช้อีเมล การเชื่อมโยงการวางเงินประกันสัญญากับธนาคาร การพิจารณาการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบ และการนำ e-Signature มาใช้
- ในการพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ คณะกรรมการไม่ควรพิจารณาจากราคายื่นที่ต่ำที่สุดเพียงอย่างเดียว แต่ควรคำนึงถึงความคุ้มค่า นวัตกรรมและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมควบคู่กันด้วย
- กรมบัญชีกลางควรมีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs เข้าถึงระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยการลดต้นทุนสำหรับธุรกิจ SMEs เช่น ลด/ยกเว้นการวางเงินประกันสัญญา เป็นต้น
- กรมบัญชีกลางควรมีการส่งเสริมเพศหญิงให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้แก่ผู้ประกอบการหญิง
ธนาคารโลกจะจัดทำรายงานเพื่อรวบรวมข้อค้นพบและข้อเสนอแนะดังกล่าวให้สำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และเผยแพร่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับปรุงสภาพแวดล้อมการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ด้านการจัดเก็บภาษีและด้านการแข่งขันทางการตลาดให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีของต่างประเทศและแนวทางการประเมินบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุน (Business Enabling Environment: BEE)