เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมหารือแนวทางการพัฒนาและประกาศแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง ร่วมกับกรมศุลกากร และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เพื่อพิจารณาการประกาศระบบ National Single Window (NSW) เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง และแนวทางนโยบายการผลักดันหน่วยงานรัฐเพื่อใช้แพลตฟอร์มกลาง โดยมีรองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) เป็นประธานการประชุม ร่วมด้วย ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (ดร.อาศิส อัญญะโพธิ์) และผู้แทนจากกรมศุลกากร โดยมีรายละเอียดการประชุม สรุปได้ดังนี้
1. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 มีวัตถุประสงค์ให้ภาครัฐจัดทำระบบ/แพลตฟอร์มที่เป็นส่วนกลาง เพื่อให้ง่ายในการเข้าใจและเชื่อมโยงการดำเนินงานระหว่างกัน รวมทั้งสร้างมาตรฐานการบริการที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ในปัจจุบัน สพร. ได้ผลักดันและประกาศให้ Biz Portal และ Citizen Portal เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง รวมถึง GDX และ data.go.th ที่ได้ประกาศไปก่อนหน้า ซึ่งการดำเนินการล่าสุด สำนักงาน ก.พ.ร. อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องวิธีการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในประเด็นที่ว่า “หน่วยงานภาครัฐใดที่จะมีการพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนในอนาคต ถ้าเป็นการพัฒนาขึ้นใหม่ขอให้มาใช้ระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์พื้นฐาน (Common Services) จากแพลตฟอร์มกลาง Biz Portal หรือ Citizen Portal แต่หากหน่วยงานใดมีการพัฒนาไว้อยู่เดิมต้องคำนึงถึงการต่อยอด เพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงระบบกับ Biz Portal หรือ Citizen Portal เพื่อช่วยลดภาระหน่วยงานภาครัฐและประหยัดงบประมาณ” จากเหตุผลข้างต้น นำไปสู่การที่กรมศุลกากรขอเสนอให้พิจารณาประกาศระบบ National Single Window (NSW) เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง รวมถึงขอหารือแนวทางและหลักเกณฑ์ในการพิจารณา
2. แพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง เกิดจากพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ระบุไว้ในมาตรา 6 ว่า “การบริการประชาชนและการติดต่อประสานงานระหว่างส่วนราชการด้วยกัน ต้องกระทำโดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลกลางที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) กำหนดด้วย” ซึ่งหมายความว่า ถ้า สพร. เห็นว่าหน่วยงานมีแพลตฟอร์มที่ดีอยู่แล้วสามารถกำหนดเพิ่มเติมได้ ในการดำเนินการที่ผ่านมามีการประกาศแพลตฟอร์มกลางแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นแพลตฟอร์มที่ทาง สพร. พัฒนาและให้บริการอยู่
3. ลักษณะของแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง ได้แก่ 1) เป็นแพลตฟอร์ม/ระบบที่หลายหน่วยงานรัฐหรือเอกชนมาร่วมกันใช้งาน 2) มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และ 3) ไม่ซ้ำซ้อนกับแพลตฟอร์มอื่น และ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับแพลตฟอร์มอื่นได้ ซึ่งแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางสามารถแบ่งได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การบริหารงานภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล กลุ่มที่ 2 การให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล และกลุ่มที่ 3 แพลตฟอร์ม/ระบบ/โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล/เครื่องมือกลางสำหรับใช้ในกระบวนการสำคัญ (Microservices) ที่ใช้ร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ประโยชน์ของแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางที่ส่งผลต่อประชาชน คือประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้ง่ายและชัดเจนมากขึ้น ใช้งานผ่านระบบที่ออกแบบ UX/UI ที่มีแนวทางเดียวกัน ประโยชน์ที่ส่งผลต่อภาครัฐ คือขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และหน่วยงานสามารถนำไปใช้หรือพัฒนาต่อยอดเป็นบริการภาครัฐได้โดยง่าย ซึ่งขั้นตอนในการขึ้นทะเบียนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง หน่วยงานต้องดำเนินการรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการสถาปัตยกรรมเป็นผู้พิจารณา จากนั้นเสนอเข้าคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลพิจารณา และ สพร. ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางต่อไป
4. ประเด็นหารือจากกรมศุลกากร มีดังนี้
- แนวทางการผลักดันหน่วยงานภาครัฐให้ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง ในปัจจุบันทางกรมศุลกากรขับเคลื่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกให้ใช้ผ่านระบบ NSW หรือผ่านแพลตฟอร์มกลางภาครัฐ แต่บางหน่วยงานมีการพัฒนา Portal เอง อาจเกิดปัญหาด้านการควบคุมมาตราฐานของข้อมูล การใช้ข้อมูลในวิธีการที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นภาระแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งในที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินการตามมาตรา 10 โดยมีหลักการคือ เมื่อ สพร. ประกาศแพลตฟอร์มกลางแล้ว จะมีการเชิญชวนให้หัวหน้าส่วนราชการมาใช้แพลตฟอร์มกลางให้แล้วเสร็จภายในสองปี ในส่วนนี้ทางสำนักงาน ก.พ.ร. ออกหนังสือเวียนแจ้งส่วนราชการต่าง ๆ ให้รับทราบและปฏิบัติ
- แนวทางการเตรียมข้อมูลเพื่อเสนอระบบ NSW เข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการสถาปัตยกรรมและคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เพื่อพิจารณาประกาศเป็นแพลตฟอร์มกลาง ในการนี้ สพร. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมและแนวทางการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่การพิจารณา โดยในที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่าควรระบุรายละเอียดในแผนการปรับปรุงแพลตฟอร์มในระยะ 1-3 ปี ให้ชัดเจน
- แนวทางเรื่องงบประมาณ เนื่องจากระบบ NSW ปลี่ยนรูปแบบมาเป็น NSW Operator ซึ่งได้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เป็นผู้ดำเนินการและมีการเก็บค่าบริการ เพื่อนำมาพัฒนาดูแลระบบและขยายบริการต่อไป ซึ่งทางกรมศุลกากรพบว่าหน่วยงานภาครัฐยังคงได้จัดทำ Portal เอง โดยให้เหตุผลเรื่องค่าบริการที่ภาครัฐไม่ควรเรียกเก็บ ที่นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมจากภาคเอกชน ซึ่งในที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอเกี่ยวกับค่าบริการและรูปแบบของการดำเนินการ เนื่องจากระบบ NSW มีลักษณะที่แตกต่างจากแพลตฟอร์มกลางอื่น ๆ (มีการเก็บค่าบริการ) ในส่วนนี้ควรจะมีการหารือเพิ่มเติมว่าเข้าเกณฑ์การเป็นแพลติฟอร์มกลางหรือไม่ และนอกจากนี้ควรชี้แจงเพิ่มเติมถึงประเด็นความสมเหตุสมผลของค่าบริการ โดยระบุรายละเอียดในการจัดทำแผนการปรับปรุงแพลตฟอร์มในระยะ 1-3 ปี ซึ่งจะนำไปสู่เงื่อนไขเพื่อนำไปของบประมาณ
ทั้งนี้ ตามแผนฯ ของ สพร. ระบบ National Single Window (NSW) จัดเป็นอีกหนึ่งระบบที่จะเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางได้ ซึ่งทางกรมศุลกากรจะจัดทำข้อมูลตามแบบฟอร์มและแนวทางที่ได้จาก สพร. และนำกลับมาหารือร่วมกันในโอกาสต่อไป รวมถึงประเด็นการของบประมาณเพื่อให้ตอบโจทย์แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่งทางสำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ต้องนำไปหารือกับสำนักงบประมาณต่อไป