เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม 2565 ดร.จุลพงษ์ ทวีศร อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และสำนักงานจังหวัดสมุทรสาคร ประชุมหารือร่วมกับ นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. นางสาวนภนง ขวัญยืน ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่กองพัฒนาระบบบริหารงานส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ผ่านสื่อระบบอิเล็กทรอนิกส์ (zoom) เพื่อหาแนวทางปลดล็อกประเด็นปัญหา : การแก้ไขปัญหาน้ำเสีย (คลองลิขิต) จังหวัดสมุทรสาคร
โดยมีข้อเสนอให้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กต้องติดตั้งเครื่องมือ /เครื่องตรวจวัด เพื่อรายงานผลการระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงาน ซึ่งตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมไม่บังคับถึงโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
จากสถานการณ์น้ำเสียเป็นปัญหาที่จังหวัดให้ความสำคัญ จึงคัดเลือก “คลองลิขิต” เป็นพื้นที่นำร่อง เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ และรายงานให้กระทรวงมหาดไทยรับทราบ โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งโรงงาน 22 แห่ง และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จะขยายผลในพื้นที่ต่อไป คือ คลองสี่วาพาสวัสดิ์
1. กรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับปัญหาน้ำเสียที่ระบายออกจากโรงงานอุตสาหกรรมและส่งผลให้คุณภาพน้ำในคลองลิขิตอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม แต่เนื่องจากการติดตั้งเครื่องมือ/เครื่องตรวจวัด มีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น จึงต้องมีการสำรวจข้อมูลการปล่อยน้ำเสียออกจากโรงงานอุตสาหกรรม และนำมาวิเคราะห์เพื่อประกอบการกำหนดมาตรการหรือการแก้ไขประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฯ ต่อไป
2. อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร สำรวจข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม (น้ำเสียและความสกปรก) เพื่อประกอบการตัดสินใจออกประกาศดังกล่าว โดยกำหนดให้ 6 โรงงานขนาดเล็ก บริเวณคลองลิขิตเป็นพื้นที่นำร่อง ทั้งนี้ กำหนดดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
นอกจากนี้ ได้หารือแนวทางการขับเคลื่อนโรงงานลำดับที่ 88 (โรงงานจากพลังงานเชื้อเพลิง โรงงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงงานจากพลังงานน้ำ) เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดตั้ง Solar roof top (autolicense) เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงาน และลด Carbon footprint ในวงจรการผลิต โดยปัจจุบันกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ปรับปรุงเพื่อให้เกิดความสะดวกในการขออนุญาต ได้แก่
1) การออกกฎกระทรวงให้โรงงานที่ต้องการติดตั้ง solar rooftop เพื่อผลิตใช้ไฟฟ้าในโรงงานได้รับยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต
2) การติดตั้ง Solar rooftop ในสถานที่ที่ไม่ใช้โรงงานจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต แต่หากมีการติดตั้งเกิน 1000 kw หรือมีการขายไฟฟ้า ยังต้องขออนุญาต นอกจากนี้ กรมโรงงานฯ ได้มีการกำกับมาตรฐานการให้บริการไม่ให้เกิน 30 วัน ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าขั้นตอนปฏิบัติมาตรฐานที่ระบุไว้ที่ 90 วัน