เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนข้อเสนอจากกิจกรรม MY BETTER COUNTRY HACKATHON ครั้งที่ 12 : ส่งเสียง ออกไอเดียปรับโฉมภาครัฐให้ตอบโจทย์ตรงใจ กับสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรมกิจการผู้สูงอายุ นำโดยนางสาวอังคณา ใจกิจสุวรรณ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมกิจการเด็กและเยาวชน รวมถึงคุณอรพรรณ สุวรรณวัฒนกุล Project Manager จาก Konrad Adenauer Foundation และประชาชนผู้นำเสนอไอเดียที่ได้จากกิจกรรมฯ ร่วมหารือแนวทางการขับเคลื่อนข้อเสนอจากประชาชนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ณ ห้องประชุมจำปีสิรินธร กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
หารือแนวทางการขับเคลื่อน 4 ข้อเสนอที่พร้อมนำไปขับเคลื่อนการพัฒนางานภาครัฐด้านสังคมเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
1. การพัฒนาแพลตฟอร์มแบบ offline และ online เพื่อให้เข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม โดยการสร้าง official line (online) และจัด workshop (offline) ผ่านผู้นำชุมชน สภาเด็ก อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อสื่อสารข้อมูลในเรื่องสิทธิที่ควรได้ เช่น สิทธิควรได้ กิจกรรมข่าวสารต่าง ๆ โดยมีการ Link ข้อมูลระหว่าง online และ offline เข้าด้วยกัน รวมทั้งดึงพลังคนวัยเก่า เพื่อลดช่องทางของการเข้าไม่ถึงสิทธิที่ควรได้ของผู้สูงอายุ รวมถึงเป็นช่องทางสร้างรายได้และอาชีพ แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้แก่คนวัยอื่นๆ ซึ่งกรมกิจการผู้สูงอายุจะได้นำหารือกับผู้นำเสนอไอเดีย ในการเชื่อมโยงช่องทางที่มีอยู่ ตลอดจนนำแนวคิดไปใช้ในการให้ความรู้เกี่ยวกับศัพท์ของแต่ละวัย โดยเฉพาะวัยรุ่นและผู้สูงอายุ เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย และส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในครอบครัวได้ด้วย
2. การให้คำปรึกษาเพื่อให้ผู้สูงอายุ สามารถดำเนินการในสิ่งที่ต้องการจะทำหลังวัยเกษียณ หรือให้ผู้สูงอายุสอนด้วยกันเอง เพื่อ Reskill และ Upskill ตนเอง เพื่อพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ของตนเองต่อไป และมีเส้นทางให้มีการรับผู้สูงอายุที่ได้มีการ Reskill และ Upskill ไปทำงานต่อในภาคเอกชนที่ต้องการบุคลากรที่มีประสบการณ์ โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ จะได้นำแนวคิดดังกล่าวไปส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ในด้านสังคม สุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี ทั้งผู้สูงอายุที่อยู่นอกระบบ ซึ่งเกษียณอายุแล้ว และที่ยังอยู่ในระบบเพื่อให้สามารถเตรียมตัวเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพต่อไปได้
3. การพัฒนาการให้บริการผู้พิการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service) ตั้งแต่เกิดในโรงพยาบาล โดยให้มีการดำเนินการในท้องถิ่นหรือในพื้นที่ ให้มีการเข้าถึงสิทธิทั้ง online และ offline เช่น ออกบัตรผู้พิการ เบี้ยยังชีพ ฯลฯ โดยให้มีการรับสิทธิ รู้สิทธิทันที รวมทั้งเรื่องการศึกษา และอื่นๆ โดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่หลังจากออกจากโรงพยาบาล โดยอาจให้อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เข้าไปสอดส่องดูแลผู้พิการในพื้นที่และส่งเรื่องไปยังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งจะได้นำไปต่อยอดให้สามารถขึ้นทะเบียนคนพิการให้กับเด็กที่พิการตั้งแต่แรกเกิด โดยให้ครอบครัวยืนยันรับสิทธิที่โรงพยาบาลได้เลย
4. การเปิดเผยสถิติ Data Case ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเด็กได้รับความรุนแรงในครอบครัว เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และความไว้วางใจ ว่าสามารถช่วยเหลือเด็กได้จริง โดยการจัดทำ infographic ขั้นตอนการช่วยเหลือ และเอกสารสำหรับการติดต่อหน่วยงานรัฐแบบง่าย ๆ เสริมสร้างทักษะการให้บริการแก่เด็กที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ และเพิ่มบุคลากรวิชาชีพ เช่น นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ที่ขาดแคลนในบางพื้นที่ (สร้าง Trust เพื่อให้เด็กกล้าเดินเข้ามาขอความช่วยเหลือจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) โดยสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะได้หารือเกี่ยวกับกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้นำเสนอไอเดียต่อไป