เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.00 น. นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมเปิดงาน Digital Trade Transformation Symposium Advancing Digital Trade Transformation and Connectivity in APEC and ASEAN ณ โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน แบงคอก กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงาน ณ สถานที่จัดงานและผ่านระบบออนไลน์ ทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชนที่เป็นสมาชิก ABAC ของไทยและต่างประเทศ รวมกว่า 350 คน
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานในการกล่าวเปิดงาน โดยกล่าวว่า การจัดงานในวันนี้จะเป็นการนำเสนอการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย (Thailand National Digital Trade Platform : NDTP) ที่เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นระบบที่สำคัญในการทำให้เกิดการเชื่อมโยงกิจกรรมทางด้านการส่งออกและนำเข้าของประเทศ ทั้งในส่วนของภาคธุรกิจและภาครัฐโดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อเป็นการยกระดับประสิทธิภาพทางด้านการค้าและการลงทุนของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ให้เกียรติกล่าวในพิธีเปิดว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีถือเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับตัวทางด้านการค้าและการลงทุน ทั้งในประเทศไทยและในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดังนั้น การพัฒนาทางด้านดิจิทัลในการสนับสนุนการค้าการลงทุนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาเพื่อยกระดับประสิทธิภาพด้านการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศ APEC โดยในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐของไทยได้มีการปรับปรุงด้านดิจิทัลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้าดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนาระบบการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) ระบบความปลอดภัยด้านดิจิทัล (Digital Security) ตลอดจนมาตรฐานทางด้านดิจิทัล (Digital Standard) ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาและยกระดับการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศ และในส่วนของภาคเอกชนของไทยก็ได้ร่วมมือกันในการพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP เพื่อทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างกันในการทำธุรกรรมของภาคธุรกิจสำหรับสนับสนุนการค้าและการส่งออก ตลอดจนการเชื่อมต่อกับระบบของภาครัฐ โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในวันนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความสำเร็จในการพัฒนาการค้าดิจิทัลของประเทศสมาชิก APEC ในอนาคต
Mr. Satvinder Singh, Deputy Secretary-General of ASEAN for ASEAN Economic Community ได้ขึ้นกล่าวในพิธีเปิดว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาการเปิดกว้างทางด้านการค้าระหว่างประเทศ ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญของประเทศสมาชิก ASEAN ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านการเมือง ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกต่าง ๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศสมาชิก ASEAN ต้องปรับตัวเป็นอย่างมากในการค้าการลงทุนระหว่างประเทศในภูมิภาค เช่น การต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล การปรับปรุงเพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินการด้านการนำเข้าและส่งออกโดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เช่น การพัฒนาระบบ NSW ของประเทศไทย การพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลของประเทศสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการพัฒนาระบบการค้าดิจิทัล คือ การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและนำเข้า เพื่อให้การพัฒนาในทุกภาคส่วนของแต่ละประเทศสามารถทำได้อย่างเต็มรูปแบบ อาทิ ด้านการพัฒนาเอกสารการนำเข้าและส่งออกดิจิทัล ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ด้านการประกันภัย ด้านการขนส่ง และสุดท้ายนี้ขอขอบคุณภาคเอกชนของไทย ที่ได้ร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การค้าดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ และจะเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญของประเทศสมาชิก ASEAN ที่จะร่วมกันพัฒนาและเชื่อมโยงระบบการค้าดิจิทัลระหว่างกันได้อย่างเต็มรูปแบบและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
ในลำดับต่อมา นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้ร่วมการเสวนาในหัวข้อ “Transformation of Ecosystem to Facilitate and Enabling Digital Transactions and Digital Documents” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และประธาน อ.ก.พ.ร. เฉพาะกิจเกี่ยวกับการศึกษาและกำหนดแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย (Thailand National Digital Trade Platform) Mr. Tat Yeen Yap, Managing Director Asia Pacific, MonetaGo Mr. Sin Yong LOH, Director TradeTrust, Sectoral Transformation Group, Infocomm Media Development Authority (IMDA) และ Dr. Julius Caesar Parrenas, Coordinator, Asia-Pacific Financial Forum (APFF) and Asia-Pacific Infrastructure Partnership (APIP) and Lead Staff, ABAC Finance and Economics Working Group โดยในการเสวนา ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ได้กล่าวถึงการร่วมมือกันอย่างดียิ่งของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP มาอย่างต่อเนื่องจนเห็นผลเป็นรูปธรรมในวันนี้ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนการดำเนินการด้านการค้าโดยเฉพาะการนำเข้าและส่งออกจากการใช้กระดาษไปสู่จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล Mr. Tat Yeen Yap ได้กล่าวแสดงความยินดีกับประเทศไทยที่ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP เพื่อยกระดับการค้าดิจิทัลได้อย่างเป็นรูปธรรม และได้กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยยกระดับประสิทธิภาพด้านการค้าดิจิทัล เช่น การนำเทคโนโลยี Financial Technology (Fintech) ที่จะช่วยสามารถยกระดับและเพิ่มความปลอดภัยในการชำระเงินผ่านแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศได้ Mr. Sin Yong LOH ได้กล่าวถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศจะสามารถช่วยเสริมศักยภาพของภาคธุรกิจในทุกกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม SMEs เนื่องจากจะทำให้เกิดการเข้าถึงการค้าการลงทุนระหว่างประเทศได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น รวมถึงจะสามารถทำให้เกิดข้อมูลการค้าที่จะเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนในการตัดสินใจอีกด้วย นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ ในฐานะภาครัฐของไทย ได้กล่าวถึงการสนับสนุนการทำให้เกิดแพลตฟอร์ม NDTP โดยการสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการขับเคลื่อนในระดับนโยบายเพื่อให้แพลตฟอร์ม NDTP สามารถเกิดขึ้นได้ ผ่านการจัดตั้ง อ.ก.พ.ร.เฉพาะกิจฯ NDTP ที่มีประธาน อ.ก.พ.ร.ฯ คือ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ซึ่งเป็นผู้แทนภาคเอกชนในการขับเคลื่อนหลัก โดยได้มีการขับเคลื่อนทั้งในด้านเทคนิคและมาตรฐาน ด้านระเบียบและกฎหมาย ด้านการออกแบบรูปแบบธุรกิจ และด้านการประสานงานระหว่างประเทศ ซึ่งความท้าทายที่สำคัญของภาครัฐในการขับเคลื่อนการพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP คือ การทำให้เกิดมาตรฐานด้านดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ และการทำให้เกิดข้อมูลด้านการค้าดิจิทัลที่ครอบคลุมและมีความปลอดภัย และ Dr. Julius Caesar Parrenas ได้กล่าวถึง การพัฒนากรอบของกฎหมายที่จะเป็นตัวสนับสนุนที่สำคัญในการทำให้เกิดการเชื่อมโยงทางด้านการค้าและการเงินระหว่างประเทศไปสู่การเป็น Digital Finance ได้อย่างสมบูรณ์แบบและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการทำให้เกิด Open Data ทางด้านการค้าและการเงิน ซึ่งจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญในการทำให้เกิดมาตรฐานและการยกระดับด้านการเงินและการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนการเพิ่มศักยภาพทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องจะช่วยให้การขับเคลื่อนการเชื่อมโยงแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศเกิดได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาต่างเห็นพ้องว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงด้านการค้าระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพในอนาคต คือ การที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ สามารถทำงานและเชื่อมโยงกันบนระบบดิจิทัลได้เป็นหนึ่งเดียว ตลอดจนการปรับเปลี่ยนภาครัฐไปสู่การเป็นภาครัฐดิจิทัลอย่างแท้จริง ประการที่สอง คือการปรับเปลี่ยนบริการภาครัฐไปสู่การให้บริการผ่านระบบดิจิทัลในรูปแบบ e-Service ที่มีประสิทธิภาพ และประการสุดท้าย คือการทำให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อทำให้เกิดการขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการของทุกภาคส่วน
ในการเสวนาในหัวข้อที่ 2 “Pilot Live and Prove of Concept (POC) and Lesson Learn” มีสาระสำคัญของการเสวนา คือ การแสดงให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันในการเชื่อมต่อแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศไทย (NDTP) ประเทศสิงคโปร์ (NTP) และประเทศญี่ปุ่น (TradeWaltz) และเป็นการถอดบทเรียนร่วมกันหลังจากการทดสอบการเชื่อมต่อในระยะที่ 1 ประสบความสำเร็จ ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต คือ การทำให้เกิดการมีส่วนร่วมกันอย่างแท้จริงของทุกประเทศ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา การตัดสินใจ การกำหมดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านข้อมูลและด้านเอกสาร และการทำให้เกิดการพัฒนาในทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน
หลังจากนั้น นายสุริยนต์ ตู้จินดา เลขาธิการหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย (ICC Thailand) ได้ขึ้นกล่าวในประเด็นของการสนับสนุนให้เกิดการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของ ICC Thailand ในฐานะสมาชิกของ ICC ที่เห็นความสำคัญของการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงแนวทางและมาตรฐานเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงระหว่างกันผ่านระบบดิจิทัล โดยการเร่งพัฒนา ICC Digital Standard เพื่อสนับสนุนให้เกิดมาตรฐานระหว่างประเทศขององค์กรการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ ร่วมกันให้มากที่สุด
การเสวนาในหัวข้อที่ 3 “How Can We Advance Digital Trade Transformation and Connectivity and Recommendations for Next Step” โดยในการเสวนาได้กล่าวถึง การกำหนดมาตรฐานด้านการค้าดิจิทัลที่สอดคล้องกับการพัฒนาทั้งในด้านรูปแบบธุรกิจและด้านเทคนิค อันจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงด้านการค้าระหว่างประเทศด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างแท้จริงและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ รวมถึงการพัฒนาเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเอกสารและใบอนุญาตของภาครัฐในรูปแบบของ G2G และ B2G ซึ่งในกรณีของประเทศไทย ได้มีการพัฒนาระบบ NSW ที่เริ่มดำเนินการพัฒนามาโดยกรมศุลกากรมาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 และยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
และในช่วงท้าย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ABAC Chair for 2022 และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวปิดงาน โดยเห็นว่า การจัดงานในวันนี้ จะเป็นก้าวที่สำคัญที่ทำให้เกิดการร่วมมือในระดับภูมิภาค ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนและเชื่อมโยงแพลตฟอร์มการค้าของแต่ละประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศสมาชิก APEC และเป็นการยกระดับ Ease of Doing Business ของประเทศในภูมิภาค รวมถึงเป็นการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของ SMEs ได้เป็นอย่างดียิ่ง และเป็นการทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชนที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศสมาชิก APEC ต่อไป
ลิงก์ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กกร.ประกาศความสำเร็จก้าวแรกของ NDTP แพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย ในงาน Digital Trade Transformation Symposium มุ่งมั่นพัฒนาเชื่อมโยงระบบระหว่างประเทศ
https://www.mitihoon.com/2022/11/16/346147/
https://moneyandbanking.co.th/article/news/ndtp-platform-trade-blockchain-161165
https://www.thailandplus.tv/archives/635263
http://www.acnews.net/detailnews_eco.php?news_id=N256570813
https://www.outperform-th.com/การเงิน-หุ้น/กกร-ประกาศความสำเร็จก้า/