เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 เวลา 09.30–12.00 น. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมชี้แจง แนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ ZOOM Meeting และ Youtube Live) มีผู้เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Zoom จำนวน 482 คน และ Youtube Live ของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 526 คน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. กรอบแนวทางการประเมินฯ ของจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มุ่งเน้นการบูรณาการการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนการปฏิรูปประเทศ แผนบูรณาการการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และนโยบายสำคัญ
2. กระทรวงมหาดไทยมีบทบาทหลักในการพิจารณาความเหมาะสมตัวชี้วัด น้ำหนัก ค่าเป้าหมายตัวชี้วัด และติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของจังหวัด ผ่านกลไกคณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของจังหวัด รวมทั้งเป็นเจ้าภาพในการจัดทำรายละเอียดตัวชี้วัดและการประเมินผลตัวชี้วัดนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงมหาดไทย โดยกำหนดให้ประเมินครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด
3. กรอบการประเมินผลประกอบด้วย 2 องค์ประกอบเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ได้แก่ การประเมินประสิทธิผลการดำเนินงาน (Performance Base) น้ำหนักร้อยละ 70 จำนวน 3-5 ตัวชี้วัด และการประเมินศักยภาพในการดำเนินงาน (Potential Base) น้ำหนักร้อยละ 30 จำนวน 2 ตัวชี้วัด
4. กำหนดประเด็นนโยบายสำคัญที่จะขับเคลื่อนการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกัน (Joint KPIs) ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2) ความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคบริโภค และ 3) รายได้จากการท่องเที่ยว โดยกำหนดจังหวัดเป้าหมายในการขับเคลื่อนในแต่ละประเด็นที่ชัดเจน
5. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดทำรายการตัวชี้วัดเพื่อเป็นตัวช่วยในการเสนอตัวชี้วัดให้กับจังหวัด ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม/มั่นคง และด้านสิ่งแวดล้อม โดยจังหวัดสามารถเสนอตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับบริบทและสภาพปัญหาของจังหวัดได้
6. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดทำแนวทางการกำหนดตัวชี้วัด น้ำหนัก และค่าเป้าหมาย เพื่อให้จังหวัดใช้ประกอบการพิจารณาการเสนอตัวชี้วัด โดยขอให้จังหวัดเสนอตัวชี้วัดส่งให้สำนักงาน ก.พ.ร. และกระทรวงมหาดไทยทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 เพื่อจะได้นำเสนอคณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการของจังหวัดพิจารณาต่อไป