เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธาน อ.ก.พ.ร. เฉพาะกิจเกี่ยวกับการศึกษาและกำหนดแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย (NDTP) ได้เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2565 ในการติดตามการขับเคลื่อนการพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP และสนับสนุนให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ ประชาชน ภาคเอกชน และเป็นการเพิ่มศักยภาพในด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยด้วยระบบดิจิทัล
ที่ประชุม ได้รับทราบ และพิจารณาให้ความเห็นในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าการพัฒนาเพื่อให้สามารถนำไปทดลองให้บริการและนำเสนอต่อที่ประชุม APEC 2022 ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ตามกรอบเวลาที่กำหนด โดยมีประเด็นที่สำคัญที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็น ดังนี้
1. คณะทำงานด้านการออกแบบรูปแบบธุรกิจ ได้นำเสนอความคืบหน้าของการดำเนินการให้บริการแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ส่งข้อเสนอโครงการที่จะดำเนินการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย (NDTP) ไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ สคร. ได้แจ้งเวียนมติคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งเห็นชอบการปรับปรุงแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 – 2570 (ฉบับปรับปรุงเมื่อเดือนมีนาคม 2565) และได้บรรจุโครงการพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP เข้าไว้ในแผนตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอแล้ว และปัจจุบันสำนักงาน ก.พ.ร. อยู่ระหว่างการดำเนินการขอรับเงินสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน สำหรับทำรายงานการวิเคราะห์ความเป็นไปได้และความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study) ในการดำเนินการในรูปแบบ PPP ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้นำเสนอความคืบหน้าในการพัฒนาระบบทดสอบ (Pilot Live) ที่ได้พัฒนาต่อยอดจากระบบต้นแบบ (Prototype) ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ทำการศึกษาและออกแบบไว้แล้ว พบว่าการดำเนินการระยะที่ 1 เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ แต่ Electronic Bill of Landing (e B/L) ยังไม่สามารถดำเนินการในระยะแรกเนื่องจากความพร้อมของระบบ ทั้งนี้ ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะให้คณะทำงานบริหารจัดการ
เรื่อง e B/L โดยระยะแรกให้ใช้แพลตฟอร์มเอกชนที่มีอยู่แล้ว โดยมีเงื่อนไขตามข้อกำหนดเฉพาะของแต่ละแพลตฟอร์มซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ทันที และระยะถัดไปให้เตรียมพร้อมในการนำ UNCITRAL Model Law on Electronic Transferable Records มาปรับปรุงกฎหมายไทยให้สามารถรองรับการเชื่อมต่อ e B/L กับประเทศคู่ค้าได้ ทั้งนี้ คณะทำงานวางแผนการทดสอบการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มการค้ากับประเทศญี่ปุ่น (TradeWaltz) และสาธารณรัฐสิงคโปร์ (NTP) ในระหว่างเดือนกันยายน ถึงเดือนพฤศจิกายน 2565 สำหรับนำเสนอในการประชุม APEC 2022 ตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ร่วมกัน
3. ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาความก้าวหน้าการศึกษาปัจจัยและเงื่อนไขจูงใจ (Incentive) ตลอดจนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้ผู้ประกอบการสนใจใช้บริการการพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP เมื่อเปิดให้บริการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ที่ได้มอบหมายให้คณะทำงานด้านการออกแบบรูปแบบธุรกิจไปเป็นการศึกษาทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ซึ่งผลการศึกษาสามารถสรุปสาระสำคัญได้ใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย (1) ผลการศึกษาปัจจัยและเงื่อนไขจูงใจ (Incentive) ตลอดจนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้ผู้ประกอบการสนใจใช้บริการแพลตฟอร์ม NDTP (2) ผลการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลการคำนวณต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการให้บริการด้านการนำเข้าและส่งออก และ (3) ข้อเสนอแนะในการดำเนินการด้านการออกแบบรูปแบบธุรกิจ ทั้งนี้ จากผลการศึกษาสามารถสรุปเงื่อนไข 4 ด้าน ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจใช้บริการแพลตฟอร์ม NDTP ของผู้ประกอบการ ประกอบด้วย ด้านความต้องการเชิงระบบ ด้านการเงิน ด้านความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์ม และด้านอื่น ๆ โดยที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าผลจากการศึกษาในครั้งนี้จะเป็นแนวทางที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินการเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP ในอนาคต และจะเป็นแม่แบบที่สามารถนำไปเป็นกรอบแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ความเป็นไปได้และความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study) ในการดำเนินการในรูปแบบ PPP ตามแผนที่กำหนดต่อไป
ทั้งนี้ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธาน อ.ก.พ.ร. เฉพาะกิจฯ NDTP ขอขอบคุณทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่ได้ร่วมมือกันอย่างดียิ่งในการสนับสนุนและผลักดันการพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP ให้สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในด้านการค้าการลงทุนในภาพรวมได้อย่างเต็มศักยภาพ อันจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดียิ่ง และเกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อประเทศและประชาชน