เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการตรวจสอบการประกอบกิจการหรือดำเนินกิจการ โดยมีนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานการประชุม และมีผู้แทนภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย สมาคมอารักขาพืชไทย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย เข้าร่วมให้ความคิดเห็น
การประชุมครั้งนี้สืบเนื่องจาก สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมรับฟังความเห็นภาคเอกชนเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการตรวจสอบการประกอบกิจการหรือดำเนินกิจการ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 และที่ประชุมเห็นควรให้มีการศึกษาการกำหนดนิยามความเสี่ยงให้มีความชัดเจน สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และนำมาเสนอต่อที่ประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง
ที่ประชุมเห็นด้วยกับการนำ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ขนาดของกิจการ ผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และการใช้ทรัพยากรมีค่าของประเทศ มากำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาความเสี่ยง เพื่อกำหนดรูปแบบในการตรวจกิจการที่เหมาะสม และสอดคล้องกับกลุ่มความเสี่ยง เช่น ความเสี่ยงต่ำ ใช้วิธีการรับรองตนเอง (Self-Declaration) ความเสี่ยงปานกลาง ใช้วิธีการตรวจสอบโดยหน่วยงานภายนอก (Third Party) หรือการตรวจสอบทางไกล (Remote Inspection) และความเสี่ยงสูง ใช้วิธีการตรวจสอบสถานที่จริงเท่านั้น เป็นต้น และมีความเห็นเพิ่มเติมในประเด็น ดังนี้
1) การจัดกลุ่มความเสี่ยงนอกจากจะพิจารณาตามลักษณะของกิจการ อาจะต้องพิจารณารายละเอียดของแต่ละใบอนุญาต รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากในแต่ละกิจการมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และมีกฎหมายควบคุมดูแลหลายฉบับ เช่น กิจการขายสุรา เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิตฯ และ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ เป็นต้น
2) การตรวจสอบกิจการที่มีความเสี่ยงต่ำ อาจพิจารณาใช้ช่องทาง Fast Track ในการพิจารณาอนุญาตเพิ่มเติมจากวิธี Self-Declaration
3) ควรปรับปรุงกระบวนการที่ต่อเนื่องจากการตรวจสอบให้เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ เช่น การออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) และการชำระค่าธรรมเนียมผ่านระบบ (e-Payment) เป็นต้น
4) ควรทบทวนระบบการทำงานและพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้สามารถพิจารณาอนุญาตได้สอดคล้องกับรูปแบบการตรวจสอบที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ผู้แทนภาคเอกชน จะได้นำผลการศึกษาที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอในวันนี้ แจ้งแก่สมาชิกเพื่อให้ความเห็นเพิ่มเติม และแจ้งให้สำนักงาน ก.พ.ร. ทราบ โดยสำนักงาน ก.พ.ร. จะได้นำความเห็นของภาคเอกชนไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป