เมื่อวันที่ 19 – 27 สิงหาคม 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2564 สาขาบริการภาครัฐ ประเภทยกระดับการอำนวยความสะดวกในการให้บริการ ณ พื้นที่ปฏิบัติงานจริง ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการพิจารณาผลการดำเนินการในภาพรวม
รางวัลบริการภาครัฐ ประเภทยกระดับการอำนวยความสะดวกในการให้บริการเป็นรางวัลที่มอบให้กับหน่วยงานที่สามารถ ลดระยะเวลาในการให้บริการ และมีการพัฒนาการบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้การบริการของประชาชนเร็วขึ้น (Faster) ง่ายขึ้นหรือสะดวกขึ้น (Easier) ทันสมัย (Smarter) และค่าใช้จ่ายที่ถูกลง (Cheaper) สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการอํานวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลงานจำนวน 9 หน่วยงาน ดังนี้
– กรมสรรพสามิต ปรับปรุงกฎหมาย 33 ฉบับ ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ ได้แก่ Excise e – service และ Block chain ทำให้เอกสารที่ประชาชนต้องเตรียมจาก 139 รายการ ลดเหลือเพียง 70 รายการ
– สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ 30 ฉบับ และให้บริการผ่านระบบ e-Submission ลดระยะเวลาการให้บริการลงร้อยละ 20 ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาติดต่อราชการได้ประมาณ 4.5 ล้านบาท/เดือน
– กรมโรงงานอุตสาหกรรม แก้ไขกฎหมาย จำนวน 7 ฉบับ รวมทั้งได้พัฒนา e-Service นำพัฒนา AI มาช่วยในการอนุมัติ อนุญาต และมีกระบวนงานเชื่อมโยง 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
– กรมเจ้าท่า แก้ไขกฎหมาย 12 ฉบับ และเชื่อมโยงข้อมูลในระบบ Linkage Center อีกทั้งพัฒนาระบบ Single Window 4 Fishing Fleet ในการออกใบอนุญาตให้ทำการงานในเรือประมง ตามมาตรา 285 และ Single Window @ Marine Department ในการอนุญาตเรือออกจากท่า
– กรมพัฒนาธุรกิจการค้า แก้ไขกฎหมาย 5 ฉบับ มีคู่มือทั้งสิ้น 37 คู่มือ ได้พัฒนาเป็น Online ทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน โดยได้พัฒนา e-Registration และ e-Foreign Certificate ลดต้นทุนผู้ประกอบการรวม 20,302 ล้านบาท/ปี
– กรมสรรพากร แก้ไขกฎหมาย 8 ฉบับ พัฒนารูปแบบบริการเป็น e-Service ในทุกกระบวนการ มีการจัดทำคู่มือประชาชนในรูปแบบ Infographic 3 ภาษา ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ผู้เสียภาษีมีความพึงพอใจในการใช้งานมากกว่าร้อยละ 80
– กรมการปกครอง แก้ไขกฎหมายทั้งสิ้น 5 ฉบับ มีการจัดทำแบบฟอร์มในรูปแบบ 2 ภาษาแล้วกว่า 30 แบบ ประหยัดค่าใช้จ่ายของประชาชนในการแปลเอกสารได้ถึง 85,323,000 บาท นอกจากนี้ยังมีระบบ e-Service และเชื่อมโยงฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรจำนวน 272 หน่วยงาน
– กรมปศุสัตว์ แก้ไขกฎหมาย 15 ฉบับ พัฒนารูปแบบบริการเป็น e-Service มาเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ เช่น งานบริการด้านการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ผ่านระบบ e-Movement ทำให้ยอดการส่งออกสินค้าปศุสัตว์พุ่งกว่า 95,000 ล้านบาท
– สำนักงานประกันสังคม แก้ไขกฎหมาย 44 ฉบับ พัฒนาระบบ e-service สำหรับนายจ้างและผู้ประกันตนทั้งสิ้น 15 กระบวนงาน สามารถกรอกข้อมูลบนระบบ e-Wage และ e-Filling ประชาชนทั่วไปสามารถสมัครและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ด้วยตนเองผ่านช่องทาง SSo E-Service
ทั้งนี้ จากผลการตรวจประเมินดังกล่าวจะได้เสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐเพื่อพิจารณาตัดสินรางวัลต่อไป