เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 24 มิถุนายน 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมและยกระดับการอำนวยความสะดวก ในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการและการประกอบธุรกิจ ครั้งที่ 3/2564 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ) เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีการพิจารณาและรับทราบในวาระต่าง ๆ ดังนี้
1. พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการข้อเสนอการกำหนดมาตรฐานการให้บริการ (Service Level Agreement : SLA) ที่กำหนดแนวทางดำเนินการเป็น 2 กลุ่มได้แก่ กลุ่มที่ผลกระทบสูง และกลุ่มทั่วไป โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการไปจัดทำข้อมูล เพิ่มเติมเกี่ยวกับนิยามและรายละเอียดกระบวนงานที่มีผลกระทบสูง โดยให้นำมาเสนอ อ.ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งต่อไป พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้
(1) การกำหนดนิยามของงานที่มีผลกระทบสูง ควรให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ เช่น เป็นงานที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลต่อการจัดลำดับ ease of doing business เป็นงานที่มีปัญหาล่าช้าหรือเป็น pain point เป็นงานที่มีกระทบชีวิตของประชาชนที่ชัดเจน มีสถิติในการใช้บริการของประชาชนสูง เป็นต้น ตัวอย่างงานที่มีผลกระทบสูงต่อการดำรงชีวิตของประชาชนที่สำคัญ เช่น การขออนุญาตก่อสร้างและต่อเติมอาคาร การขออนุญาตแรงงานต่างด้าว เป็นต้น
(2) ควรเร่งลดระยะเวลาของงานบริการที่มีระยะเวลานาน โดยเฉพาะที่มีระยะเวลาดำเนินการมากกว่า 180 วัน ซึ่งจะสามารถสร้าง impact ได้ค่อนข้างมาก
(3) ควรมีการตรวจสอบการกำหนดระยะเวลาของหน่วยงานว่าเป็นไปตามที่กำหนดจริงหรือไม่ รวมถึงเมื่อมีสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดโควิด 19 หน่วยงานยังใช้เวลาได้ดีเท่าเดิมหรือไม่
(4) ควรมีบทลงโทษกรณีหน่วยงานไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด
2. รับทราบความก้าวหน้าใน 2 ประเด็น ได้แก่
(1) รายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งปัจจุบันได้นำเสนอรายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ต่อนายกรัฐมนตรีผู้รักษาการ
ตามกฎหมายแล้ว โดยมีประเด็นสำคัญในการปรับปรุง เช่น การกำหนดบทลงโทษกรณีหน่วยงานไม่ปฎิบัติตามคู่มือสำหรับประชาชน การรายงานการอนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การขยายอายุใบอนุญาต เป็นต้น และการดำเนินการต่อไปจะเป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะทำงานจัดทำร่างพระราชบัญญัติฯ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีความเห็นเพิ่มเติม เช่น การกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนกรณีที่หน่วยงานไม่ได้ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในคู่มือสำหรับประชาชน และการพิจารณาเรื่องการนับระยะเวลา stop clock ที่เหมาะสมและจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้รับบริการ เป็นต้น
(2) แนวทางการศึกษาการขออนุญาตประกอบธุรกิจได้ใน 1 ใบอนุญาต (Super License) ซึ่ง อ.ก.พ.ร.ฯ มีความเห็นเพิ่มเติมว่า การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่จะต้องขออนุญาตในหลายๆ ใบอนุญาตและหลายหน่วยงาน และกรอกข้อมูลซ้ำๆ ในการขออนุญาตประกอบธุรกิจ โดยอาจเริ่มดำเนินการในกิจการเล็กๆ ที่คนสนใจ เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร e-commerce หรืออาจหาว่าอะไรที่เป็นปัญหาหลักๆ ของการประกอบธุรกิจ เช่น ปัญหาแรงงานต่างด้าว เป็นต้น