เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. นำโดย รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) นำโดย รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (นางสาวอภิณห์พร อังคกมลเศรษฐ์) และนายอาศิส อัญญะโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาดิจิทัลโซลูชันส์ ได้ประชุมหารือร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ในการพัฒนางานบริการ “การลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยยังชีพความพิการ” สำหรับให้บริการในระบบ Citizen Portal
ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (นายธีรยุทธ สำราญทรัพย์) ได้ชี้แจงถึงแนวทางและแผนการดำเนินการในการพัฒนางานบริการเพื่อประชาชนที่กรมฯ กำลังดำเนินการในหลายส่วน โดยเฉพาะ การลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยยังชีพความพิการ ที่กรมฯ กำลังมีการปรับเปลี่ยนระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมุ่งเน้นเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับประโยชน์สูงสุด อาทิ การปรับเปลี่ยนเกณฑ์การรับเบี้ยยังชีพให้มีความเหมาะสม เช่น ถึงแม้ว่าผู้สูงอายุจะได้รับสวัสดิการอื่น ๆ จากรัฐ แต่หากเงินสวัสดิการดังกล่าวไม่เพียงพอหรือมีความจำเป็นอย่างอื่น ก็ให้สามารถรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการเร่งดำเนินการ โดยในอนาคตมีแนวคิดที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบถึงความต้องการและความจำเป็นที่แท้จริงของประชาชนเป็นรายบุคคลให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้นำเสนอผลการศึกษาการพัฒนางานบริการ “การลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยยังชีพความพิการ” เพื่อให้บริการในระบบ Citizen Portal โดยให้ข้อเสนอถึงการให้บริการดังกล่าวในมิติ “รู้ ยื่น จ่าย รับ” และนำเสนอตัวอย่างประสบการณ์ผู้ใช้งาน (User Journey) ของงานบริการ ที่ง่ายและเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ใช้บริการผ่านระบบ Citizen Portal โดยในระยะสั้น จะพัฒนางานบริการในมิติ “รู้ เชิงรุก” เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามสถานะของการให้บริการ และทราบถึงข้อมูลต่าง ๆ ของงานบริการดังกล่าว ได้ง่าย ๆ ผ่านระบบ Citizen Portal ในระยะกลาง จะเป็นการพัฒนาระบบการลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพฯ เพื่อให้ประชาชนสามารถยื่นคำขอได้ผ่านแอฟพริเคชันทางรัฐได้ ส่วนในระยะยาว จะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนและหน่วยงานในการให้บริการประชาชน ซึ่งในเบื้องต้น กรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบบริการเบี้ยยังชีพฯ ที่เชื่อมต่อกับกรมบัญชีกลางในการเบิกจ่ายงบประมาณอยู่แล้ว จึงมีความพร้อมด้านข้อมูลสำหรับเชื่อมต่อในการให้บริการในระบบ Citizen Portal แต่ในส่วนของกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ใช้ระบบของกรมบัญชีกลางในการเบิกจ่ายงบประมาณ สำนักงาน ก.พ.ร. จึงมีข้อเสนอใน 3 แนวทาง เพื่อที่จะสามารถพัฒนางานบริการให้สามารถให้บริการประชาชนได้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ คือ
1) กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา พัฒนาระบบฐานข้อมูลของตนเองเพื่อเชื่อมต่อสำหรับการให้บริการในระบบ Citizen Portal แต่จำเป็นต้องใช้งบประมาณและระยะเวลาค่อนข้างมากในการพัฒนา
2) ใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลของกรมบัญชีกลาง โดยให้ สพร. ในฐานะหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่ในการพัฒนาพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน ดึงข้อมูลจากกรมบัญชีกลางและจัดเก็บข้อมูลไว้ที่ สพร. สำหรับให้บริการประชาชนผ่าน Citizen Portal ได้ ซึ่งจะทำให้สามารถให้บริการได้ครอบคลุมและข้อมูลมีความถูกต้อง
3) ให้ สพร. สร้างระบบฐานข้อมูลสำหรับให้ทั้ง 3 หน่วยงาน ส่งข้อมูลสำหรับให้บริการแก่ประชาชนมายัง สพร. แต่ทางเลือกนี้ จะทำให้หน่วยงานต้องส่งข้อมูลไปทั้งกรมบัญชีกลาง และ สพร. ด้วย
ในการนี้ กรุงเทพมหานคร โดยหัวหน้าศูนย์ข้อมูลและสารสนเทศ สำนักพัฒนาสังคม (นายจิติวัฒน์ จึงสมประสงค์) และเมืองพัทยา โดยผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (นางสาวพรรณี ลิ้มเจริญ) และผู้อำนวยการส่วนสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม (นางสาวธีราภรณ์ ศรีจันทร์) มีความเห็นตรงกันว่า แนวทางที่เหมาะสมและเป็นไปได้มากที่สุด คือ แนวทางที่ 2) ที่ให้ สพร. ในฐานะหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่ในการพัฒนาพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน ดึงข้อมูลจากกรมบัญชีกลางและจัดเก็บข้อมูลไว้ที่ สพร. สำหรับให้บริการประชาชนผ่าน Citizen Portal ทั้งนี้ สพร. แจ้งว่าการดำเนินการดังกล่าวสามารถทำได้ และจะทำให้ข้อมูลมีความถูกต้อง มีความปลอดภัย และสามารถดำเนินการให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้ ที่ประชุมจึงมีมติในการที่จะพัฒนางานบริการตามแนวทางดังกล่าว และขอให้สำนักงาน ก.พ.ร. ประสานงานเพื่อนัดหมายให้ทุกหน่วยงานเข้าหารือกับกรมบัญชีกลางต่อไป
นอกจากนี้ เมืองพัทยา ในฐานะผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ได้ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาการให้บริการ เช่น การที่ประชาชนย้ายที่อยู่ จำเป็นต้องแจ้งของรับเบี้ยยังชีพ ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่ที่ตนย้ายเข้า หากไม่มีการแจ้งก็จะเสียสิทธิในการรับเบี้ยยังชีพต่อเนื่องในปีถัดไป หรือการพัฒนาระบบดิจิทัลให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนได้โดยอัตโนมัติ เมื่อมีอายุถึงตามสิทธิ์หรือเข้าเกณฑ์ตามที่กำหนด อันจะเป็นการอำนวยความสะดวกและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน