เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ เป็นประธานในการประชุม สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้
1. เห็นชอบ ร่างผลการศึกษาการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสร้างเสริมภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (Open Government and Meaningful Participation Ecosystem) โดยให้มีการนำข้อเสนอของคณะกรรมการไปปรับแก้ไขต่อไป ทั้งนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
1) การวิเคราะห์สถานะปัจจุบันของประเทศไทย (As is) โดยคัดเลือกดัชนีสากลต่าง ๆ ที่ประเมินระดับการพัฒนาภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น Open Data Barometer ไทยได้ลำดับที่ 53 จาก 115 ประเทศ, E-Participation Index ประเมินการมีส่วนร่วม ไทยได้คะแนนต่ำด้าน E-Decision , E-Government Index ประเมินความพร้อมรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ไทยได้อันดับที่ 3 ของอาเซียน แต่ได้คะแนนต่ำด้านบริการออนไลน์
2) การวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัด (GAP) พบว่า หน่วยงานรัฐเริ่มมีความร่วมมือกับภาคสังคม แต่ยังขยายผลน้อย เจ้าหน้าที่ไม่กล้าทดลองสร้างสรรค์นวัตกรรม ข้อมูลเปิดภาครัฐยังไม่สมบูรณ์ ประชาชนไม่มีโอกาสเข้าร่วมวางแผนและตัดสินใจใช้งบประมาณ โครงสร้างหน่วยงานราชการไทยเป็นโครงสร้างแบบพีระมิด และรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งมีผลต่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติและค่านิยมขององค์กร
3) ตัวอย่างความสำเร็จของประเทศต่าง ๆ (Best Practice) เพื่อสร้างเสริมภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย เช่น การปรับปรุงเว็บไซต์ FOIA.gov ของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและส่งคำร้องขอข้อมูลทางออนไลน์ไปยังหน่วยงานของรัฐบาลกลางได้ การพัฒนาแพลตฟอร์ม opentender.net ของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและนำมาประเมินความเสี่ยงการเกิดทุจริต การบริหารจัดการเมืองโดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการให้บริการประชาชนเต็มรูปแบบ ของประเทศสเปน การจัดทำงบประมาณอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Budget System : PBS) ของประเทศเกาหลีใต้
4) ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม (To Be) เช่น (1) การปรับนโยบาย (2) แก้กฎหมาย เช่น แก้ไขพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ ให้คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการใช้โมเดล UK ICO และแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (3) ขยายขอบเขตการทำงาน เช่น เน้นกระจายอำนาจให้ประชาชนร่วมตัดสินใจ สร้างกิจกรรมร่วมพัฒนาพื้นที่กับภาคสังคม
ทั้งนี้ อ.ก.พ.ร. ส่วนร่วมฯ เสนอแนะให้มีการไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ใน 4 ระดับ เพิ่มเติม ได้แก่ (1) ระดับนโยบาย เช่น การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ การปรับปรุงกฎหมายข้อมูลข่าวสารสาธารณะ (2) ระดับองค์กร เช่น การขับเคลื่อนหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ท้องถิ่น และชุมชน อาทิ การจัดทำแผนพัฒนาชุมชน (3) ระดับพื้นที่ เช่น การแก้ไขปัญหาในลักษณะ Issue Base หรือ Agenda Base เช่น เรื่องการต่อสู้กับความยากจน (4) ระดับบุคคล เช่น การดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในลักษณะ Innovation Sandbox เพื่อให้เกิด citizen Engagement และ Public Participation เป็นต้น โดยแบ่งออกเป็นข้อเสนอด้านนโยบายและด้านการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลกระทบ (Impact) ที่ยิ่งใหญ่และเกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เพื่อนำมาจัดทำเป็นแผนงานกิจกรรม/โครงการที่ชัดเจนต่อไป
2. รับทราบสรุปผลการประชุมเรื่องแผนปฏิบัติการ (Action Plan) การสร้างระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) และเรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐในเรื่องปัญหา PM 2.5 ของจังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดลำปาง
NEXT STEP สำนักงาน ก.พ.ร. จะดำเนินการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนา Platform กลางในการเปิดเผยข้อมูลและบูรณาการข้อมูล เรื่อง PM 2.5 ให้แล้วเสร็จภายในปี งบประมาณ พ.ศ. 2564