เมื่อวันที่ 10 – 11 มีนาคม 2564 นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข (รองเลขาธิการ ก.พ.ร.) ร่วมอภิปรายในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อผลักดันและบูรณาการติดตามการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย หัวข้อ “การป้องกันการติดสินบนในการลงทุนและการนำเข้าส่งออกเพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย” ณ ห้องแมกโนเลีย 1- 3 ชั้น 4 โรงแรมทีเค พาเลซ โดยมีพลเอก บุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอภิปราย จำนวน 4 หน่วยงาน ได้แก่
1) กรมศุลกากร
2) กรมการค้าระหว่างประเทศ
3) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
4) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
ผลจากการอภิปราย สรุปได้ดังนี้
1. คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยในปี 2563 คือ 36 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 104 จาก 180 ประเทศทั่วโลก และอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีคะแนนลดลงมากสุดในแหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook Executive Opinion Survey 2020 : การให้สินบนและการทุจริตคอร์รัปชันยังคงมีอยู่หรือไม่ (ลดลง 4 คะแนน)
เนื่องจากการออกมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตในเรื่องการรับสินบนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยังไม่สามารถลดการเรียกรับสินบนได้ โดยประเด็นสำคัญ คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ อนุญาต เรียกรับผลประโยชน์ต่อผู้รับบริการ และผู้รับบริการต้องการความสะดวกรวดเร็วในการรับบริการจึงยอมจ่ายสินบน ประกอบกับเมื่อเกิดการดำเนินคดีการรับสินบน หน่วยงานที่พิจารณาคดี เช่น สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาความผิดแตกต่างกัน
2. เครื่องมือสำคัญที่จะช่วยยกระดับ CPI ในภารกิจของสำนักงาน ก.พ.ร. มีจำนวน 5 เครื่องมือ ได้แก่
2.1 การดำเนินการผลักดันตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เพื่อให้บริการเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน โดยปัจจุบันมีจำนวน 3,418 ฉบับจาก 127 หน่วยงาน สามารถลดสำเนาเอกสารและขั้นตอนระยะเวลาได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 – 50 ใน 532 ใบอนุญาต
นอกจากนี้ มีการกำหนดมาตรการไม่เรียกสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้จากประชาชน โดยดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ และการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ e-Service e-Document e-Payment ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับปรุงกระบวนงานภาครัฐให้เกิดความโปร่งใส ทั้งนี้ ในการดำเนินการที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐในการจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน โดยในระยะต่อไปเป็นการทบทวนกระบวนงานที่เกี่ยวกับการจดแจ้ง ให้มีความสะดวกมากขึ้น ผ่านการพัฒนาการจดแจ้งออนไลน์ และผู้รับใบอนุญาตสามารถชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตได้
2.2 Ease of Doing Business (EODB) เป็นการประเมินความสะดวกในการติดต่อราชการ โดยปรับปรุงกระบวนงาน จำนวน 10 กระบวนงาน เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อผู้รับบริการ ส่งผลต่อการให้สินบนเพื่ออำนวยความสะดวกลดลง ซึ่งดัชนีย่อยของ CPI บางดัชนีมีความเกี่ยวข้องกับสินบนและกระบวนการในวงจรธุรกิจ
เมื่อทำการยกระดับ EODB จะส่งผลต่อดัชนี CPI ให้มีคะแนนเพิ่มขึ้น ซึ่งแนวทางการยกระดับนั้น ประกอบด้วยการยกระดับการให้บริการภาครัฐอิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ One Stop Service ระบบ e-Payment และระบบ NSW) การทบทวนกฎหมายที่มีความเหมาะสม โดยกำหนดและบังคับใช้กฎระเบียบที่ชัดเจนและสอดคล้องกัน และการปรับปรุงกระบวนงาน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งมีความต้องการให้มีช่องทางการให้บริการที่สะดวก ทันสมัย ข้อมูลเข้าใจง่าย การทำให้ทุกอย่างเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว การมีกรอบเวลามาตรฐานที่ชัดเจนที่มีอยู่ในคู่มือสำหรับประชาชน โดยวิธีการทำงานภาครัฐต้องตอบสนองความต้องการดังกล่าว ได้แก่ การขอเอกสารให้น้อยลง โดยเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐ การพัฒนางานบริการอย่างต่อเนื่อง
2.3 ธรรมาภิบาลภาครัฐ ส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลภาครัฐเพื่อนำไปสู่การบริหารราชการด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้
2.4 การมีส่วนร่วม ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการบริหารราชการ โดยรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนและประชาชน มาปรับปรุงงานบริการภาครัฐโดยเฉพาะในกระบวนการอนุมัติ อนุญาต
2.5 ระบบราชการ 4.0 : แนวคิดระบบราชการ 4.0 ประกอบด้วย 3 มิติ คือ ภาครัฐที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย โดยมาจากปัจจัยความสำเร็จ 3 ประการ คือ การสานพลังระหว่างภาครัฐและภาคอื่น ๆ การสร้างนวัตกรรม และการปรับเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล
ทั้งนี้ มีข้อเสนอในการยกระดับ CPI คือ มุ่งเน้นไปที่กระบวนงานที่สุ่มเสี่ยงต่อการทุจริต โดยเฉพาะกระบวนงานด้านการส่งออกนำเข้าซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคเอกชน โดยนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หน่วยงานต้องเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้เกิดความโปร่งใส (Open Connected) การนำแนวคิดเรื่องการสร้างมาตรฐานด้านการบริการรูปแบบใหม่ เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจ ลดช่องว่างโอกาสในการเรียกรับผลประโยชน์ โดยส่งเสริมการให้บริการในรูปแบบ Automated Processing และนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาให้บริการโดยไม่ต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่ (Zero Touch)
สำหรับการประเมิน ITA ให้สามารถช่วยยกระดับคะแนน CPI ได้นั้น ควรกำหนดการประเมิน ITA เป็นระดับก้าวหน้า (Advance) ใช้หลักการเช่นเดียวกับการประเมิน PMQA 4.0 ที่กำหนดเป็น 3 ระดับ เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงและแนวทางการพัฒนาที่สะท้อนความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ
3. กรมศุลกากร เปลี่ยนภารกิจจากเดิมที่เน้นการจัดเก็บภาษีอากรจากของที่นำเข้าและส่งออกเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยส่งเสริมให้สิทธิประโยชน์การลงทุนด้วยมาตรการศุลกากร การตรวจจับกุมสินค้าที่ผิดกฎหมายไม่ให้เข้าประเทศ ซึ่งมีกระบวนงานการตรวจสอบตู้สินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์โดยการสุ่มตรวจเพื่อลดความเสี่ยงในการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ และจัดทำโครงการ “พันธมิตรศุลกากร” (Customs Alliances : CA) เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับกรมศุลกากรในการอำนวยความสะดวกทางการค้าในการแก้ไขปัญหาและลดข้อโต้แย้ง เพื่อสร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมในการปฏิบัติงาน
นอกจากนี้ กรมศุลากรเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดตั้งระบบ National Single Window (NSW) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการค้าระหว่างประเทศให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศ
4. กรมการค้าระหว่างประเทศ ศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการนำเข้าอนุมัติ อนุญาตสินค้า ในสินค้า “รถยนต์ที่ใช้แล้ว” โดยรถยนต์ที่ใช้แล้วหรือรถยนต์มือสองที่นำเข้ามาในประเทศโดยหลบเลี่ยงภาษี พบว่า ผู้ประกอบการใช้วิธีการให้ผู้มีอำนาจต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เข้ามาเจรจาต่อรอง นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่แตกต่างกันตามประกาศและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น การตีความพิกัด ปัญหาการหลบเลี่ยงมาตรการ โดยการสำแดงสินค้า/พิกัดอัตราศุลกากรเป็นเท็จ การนำเข้าเป็นชิ้นส่วนรถยนต์มาประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปในประเทศไทย ปัญหาการใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อนำรถยนต์ที่ใช้แล้วเข้ามาจำหน่าย โดยมีการสวมสิทธิ์โดยบุคคลอื่น การปลอมแปลงเอกสาร ปัญหาการแอบอ้างเรียกค่าตอบแทนจากผู้ที่ขออนุญาตนำเข้า โดยอ้างว่าต้องเสียเป็นค่าเซ็นเอกสารให้กับเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจลงนามในใบอนุญาต เช่น กรณีการนำเข้ารถยนต์/รถลักษณะพิเศษ (รถเครน) ใช้แล้ว ซึ่งกรมกำหนดแนวทางป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยเชิญผู้ประกอบการที่นำเข้ารถลักษณะพิเศษที่ใช้แล้วมาประชุมเพื่อชี้แจงให้ทราบเกี่ยวกับขั้นตอน/กระบวนการขอใบอนุญาตนำเข้าลักษณะพิเศษ ออกข่าวประชาสัมพันธ์เรื่อง “เตือนผู้ประกอบการอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้างเรียกเงินในการขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้า” มีหนังสือถึงผู้กำกับสถานีตำรวจเพื่อดำเนินการสืบสวนผู้กระทำผิดตามกฎหมาย จัดทำตรายางประทับลงในคำขอนุญาตฯ ว่า “ขั้นตอนการอนุญาตนำเข้ารถยนต์ และรถจักรยายนต์ที่ใช้แล้วไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น หากพบให้โทรแจ้ง 1385”
5. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ดำเนินการตามคู่มือสำหรับประชาชน โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน และวัตถุดิบเพื่อนำมาผสมเพื่อการส่งออกจะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้า มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อขออนุมัติอนุญาตแบ่งเป็นสามระดับ คือ เจ้าหน้าที่ หัวหน้าสายงาน และผู้อำนวยการกองเพื่อพิจารณาอนุมัติ และส่งข้อมูลไปยังผู้ประกอบการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยมีการเชื่อมโยงระบบกับกรมศุลกากร
6. สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย จัดทำโครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตหรือ (CAC) โดยสร้างและขยายแนวร่วมในภาคเอกชนเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันด้วยการส่งเสริมให้บริษัทต่าง ๆ กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อลดการการทุจริตและสินบน โดยนำแนวคิดจากวัฒนธรรมเรื่องความปลอดภัยในการปฏิบัติงานมาใช้ในการต่อต้านคอร์รัปชัน กำหนดให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร ปลูกฝังทุกขั้นตอนในการทำงาน โดยผู้นำองค์กรต้องเป็นแบบอย่างให้ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมและจัดทำช่องทางแจ้งเรื่องร้องเรียนทุจริตผ่านระบบอิเล็กรทรอนิกส์โดยภาคเอกชนให้ข้อสังเกตว่ากระบวนงานนำเข้าส่งออกมีความเสี่ยงในการเรียกรับสินบน
กลุ่มงานการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ