1. การพัฒนาการออกเอกสารหลักฐานผ่านระบบดิจิทัล
กรมการขนส่งทางบกได้พัฒนาการออกเอกสารหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ 2 รายการ ได้แก่
1) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถบรรทุกโดยผู้รับบริการสามารถขอรับบริการได้ผ่านระบบ DLT-Transport License และผ่านระบบ Biz Portal ซึ่งทั้ง 2 ช่องทางจะให้บริการตั้งแต่การยื่นคำขอออนไลน์ การชำระค่าธรรมเนียมผ่าน e-Payment Portal ของกรมบัญชีกลาง จนถึงการออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 มีนาคม 2564 นี้
2) เครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี (ออกตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522)
เนื่องจากเครื่องหมายดังกล่าวยังต้องมีการแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และประชาชนยังคุ้นเคยกับรูปแบบกระดาษ ดังนั้นกรมการขนส่งทางบกจึงขอปรับแผนการดำเนินการเป็นจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2565 เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีความพร้อม ทั้งในแง่ของกฎหมาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามปัจจุบันกรมได้พัฒนาให้มีการออกเครื่องหมายชั่วคราวแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีอายุ 15 วัน
2. การพัฒนางานบริการผ่านระบบ Citizen Portal
งานบริการที่จะนำมาให้บริการประชาชนของกรมในระบบ Citizen Portal มีทั้งสิ้น 4 งานบริการ ได้แก่
1) การแจ้งเตือนใบอนุญาตขับขี่หมดอายุ
2) การจองคิวต่อใบขับขี่รถยนต์แบบออนไลน์
3) การรับชำระภาษีรถประจำปี
4) การแจ้งเตือนชำระภาษีรถประจำปี
โดยงานบริการในลำดับที่ 1-3 ให้บริการแล้วในรูปแบบ Application บนมือถือของกรมการขนส่งทางบก และจะได้หารือกับ สพร. ในการเชื่อมโยงมาให้บริการบนระบบ Citizen Portal ต่อไป สำหรับงานบริการในลำดับที่ 4 อยู่ระหว่างการพัฒนา
3. การชำระภาษีผ่านระบบออนไลน์
ในปี พ.ศ. 2564 กรมจะพัฒนาระบบการให้บริการชำระภาษีออนไลน์ ครอบคลุมทุกประเภทรถยนต์ ให้สามารถยื่น และชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ได้ รวมทั้งจะขยายผลให้มีผู้ใช้งานบนระบบมากขึ้น โดยการขยายฐานผู้รับบริการสู่กลุ่มรถที่เข้าข่ายต้องตรวจสภาพรถกับ ตรอ. และการจัดทำข้อตกลงเพิ่มเติมกับบริษัทประกันภัย 46 บริษัท ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2564
4. การขยายผลการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ในระยะต่อไป
กรมการขนส่งทางบกมีแผนในการขยายผลการให้บริการด้วยรูปแบบ e-Service เต็มรูปแบบ เพิ่มขยายจำนวนงานบริการที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาติดต่อ ณ หน่วยงาน โดยมีเป้าหมายการพัฒนางานบริการในกลุ่มการแจ้งเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลซึ่งเป็นงานที่ไม่มีความซับซ้อน รวมทั้งยกระดับงานบริการที่ให้บริการในรูปแบบ e-Service อยู่แล้วให้สามารถให้บริการเป็นอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ และต่อยอดจากงานบริการที่มีอยู่แล้วให้ครอบคลุมในเชิง Agenda โดยระยะแรกจะเริ่มศึกษาในกลุ่มงานรถบรรทุกไม่ประจำทาง ที่มีทั้งหมด 12 กระบวนการหลักก่อน เพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลไปยังรถประเภทอื่นๆ โดยสำนักงาน ก.พ.ร. จะช่วยสนับสนุนในการศึกษาและคัดเลือกงานบริการที่จะนำมาพัฒนาต่อไป