โดยร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ดังกล่าว ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีใบอนุญาตที่อยู่ในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ 11 ฉบับ แบ่งเป็นประเภทของใบอนุญาต 31 ประเภท ที่สามารถชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตได้
ทั้งนี้ จากการหารือถึงความพร้อม รวมถึง ความต้องการรสนับสนุนของของหน่วยงานสามารถสรุปได้เป็น 3 ประเด็น คือ ดังนี้
1 แนวทางการตรวจสอบใบอนุญาตที่ได้รับการต่ออายุ หน่วยงานอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการจัดทำแผนสำหรับการตรวจสอบใบอนุญาตที่ใกล้จะหมดอายุ รวมถึงการวางแผนกรณีที่ต้องมีการลงไปตรวจการดำเนินการของผู้ประกอบการว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อให้สอดรับกับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
2 การเตรียมการของหน่วยงานเพื่อจัดทำประกาศเผยแพร่ รวมถึงการสื่อสารสร้างการรับรู้ให้ประชาชน รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้ทราบรายละเอียดถึงวิถีปฏิบัติที่ชัดเจน รวมถึง ข้อกำหนดอื่น ๆ เช่น สามารถชำระได้ก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุในระยะเวลาเท่าใด หรือมีเงื่อนไขอื่น ๆ อีกหรือไม่ เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
3 การเตรียมช่องทางการชำระเงินของแต่ละหน่วยงาน ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่หน่วยงานมีความพร้อมในการชำระค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางปกติคือ ณ จุดบริการ รวมถึงช่องทางอื่นๆ ซึ่งถือเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ เช่น ผ่านธนาคาร ช่องทางออนไลน์ ฯลฯ มีเพียงบางหน่วยงานที่ผู้ให้บริการไม่ใช่หน่วยงานโดยตรงแต่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะมีการผลักดันให้ดำเนินการผ่านช่องทาง Biz Portal ระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ขณะที่กรุงเทพมหานคร มีแผนที่จะพัฒนาการให้บริการประชาชนไปสู่รูปแบบดิจิทัลอยู่แล้ว และได้เตรียมการในส่วนของช่องทางการชำระเงินผ่านระบบ e-Payment ไว้รองรับการดำเนินการดังกล่าว
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการดำเนินการของหน่วยงาน สำนักงาน ก.พ.ร. จะมีการผลักดันการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เพื่อหารือในการจัดทำช่องทางการรับจ่ายเงินผ่าน platform กลาง หรือการดำเนินการผ่าน Biz Portal กรณีที่หน่วยงานไม่มีความพร้อมหรือมีข้อจำกัดในการจัดทำระบบชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึง การจัดทำตัวอย่างแบบฟอร์มประกาศเผยแพร่ รวมถึงรายละเอียดอื่น ๆ ในทางปฏิบัติเพื่อให้หน่วยงานสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป