ณ ห้องประชุม ก.พ.ร. ชั้น 5 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยมีนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ เป็นประธานการประชุม และมีสรุปผลการประชุม ดังนี้
1. รับทราบผลการจัดกิจกรรม MY BETTER COUNTRY HACKATHON ครั้งที่ 7 : ระดมความคิดออกแบบระบบและพฤติกรรมคน ให้ห่างไกลยาเสพติด ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 โดยมีทีมที่ชนะการแข่งขัน 4 ทีม ได้แก่ ทีมเราแจ้งด้วยกัน 1386 (ใช้แนวทางการตลาด (marketing) มาใช้ในแจ้งเบาะแส ด้วยการเพิ่มช่องทางการติดต่อ การสร้างความตื่นตัว และการให้รางวัล) ทีม Parents Ranger (ชวนพ่อแม่ที่มีลูกติดยา ให้เข้ามาเป็นเครือข่าย สื่อสารภายในครอบครัว) ทีม Care Case (เพิ่มช่องทางสื่อสารและแจ้งเบาะแสผ่านช่องทางที่กลุ่มเป้าหมายคุ้นเคย เช่น Line@ และ QR Code) และทีม Local Venture (รวมตัวสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น) สำหรับการดำเนินการต่อไป สำนักงาน ก.พ.ร. จะได้หารือความเป็นไปได้ของข้อเสนอที่ได้จากการจัดกิจกรรม กับสำนักงาน ป.ป.ส. ภายในเดือนธันวาคม 2563 รวมถึงติดตามผลทุก 2 เดือน นอกจากนี้ อ.ก.พ.ร.ฯ ยังให้ข้อสังเกตในการหาความร่วมมือกับกองทุนเครือข่ายจากภาคเอกชน อาทิ กองทุนสื่อสร้างสรรค์ กองทุนพัฒนาไฟฟ้า สสส. และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เป็นต้น ในการช่วยขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
2. เห็นชอบแนวทางการพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) เพื่อสร้างเสริมภาครัฐระบบเปิด และการมีส่วนร่วม (Open Government and Meaningful Participation) โดยได้มีการหารือเรื่องความหมาย องค์ประกอบ และแนวทางการขับเคลื่อนของภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ที่ประกอบด้วย 7 ประการ ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ การมีนโยบายและกฎหมายที่เอื้อต่อการเปิดระบบราชการ การปรับโครงสร้างองค์กร การสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชน การพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน การติดตามนโยบายของภาครัฐ และการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ซึ่ง อ.ก.พ.ร. มติให้ฝ่ายเลขานุการฯ ดำเนินการ 2 ส่วน คือ 1) การเผยแพร่ความหมาย และแนวคิดเกี่ยวกับระบบนิเวศเพื่อสร้างเสริมภาครัฐระบบเปิด และการมีส่วนร่วม ให้ทุกภาคส่วนเข้าใจตรงกัน และ 2) การคัดเลือกประเด็นที่จะขับเคลื่อนเพื่อสร้างเสริมภาครัฐระบบเปิด และการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย เพื่อเป็นการทดสอบสมมติฐานว่าองค์ประกอบที่เสนอมีความเหมาะสมและครบถ้วน เพื่อจะได้ปรับองค์ประกอบให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยต่อไป
3. เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่ง อ.ก.พ.ร.ฯ มีข้อสังเกตให้ฝ่ายเลขานุการฯ เชื่อมโยงองค์ประกอบของระบบนิเวศของภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย เข้ากับประเด็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญในปัจจุบัน โดยให้ดำเนินการร่วมกับพื้นที่นำร่องที่ได้รับผลกระทบสูง และมีความพร้อมในการดำเนินการ ผ่านกระบวนการ Sandbox ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำปาง โดยจะได้มีการลงพื้นที่ไปหารือร่วมกันกับเครือข่ายในพื้นที่ภายในเดือนมกราคม 2564 ต่อไป