1. ที่ประชุมมีมติรับทราบ 1) คำสั่งแต่งตั้ง อ.กพม. 2) ภาพรวมการขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน 3) ความก้าวหน้าการสรรหาประธานกรรมการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้อำนวยการองค์การมหาชน 4) กรอบการประเมินองค์การมหาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมาย อ.กพม. เจ้าภาพ สำหรับองค์การมหาชนกลุ่มที่ 2 ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะต้องติดตามความสำเร็จเป็นการเฉพาะ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่
1) สำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษา : นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์
2) ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ : นายรณภพ ปัทมะดิษ
3) ศูนย์คุณธรรม : นางสีลาภรณ์ บัวสาย
4) สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน : นางเบญจวรรณ? สร่างนิทร
5) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ : นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา
6) สำนักงานพัฒนาพิงคนคร : นายประสงค์ พูนธเนศ
2. ที่ประชุมได้พิจารณาวาระที่ฝ่ายเลขานุการนำเสนอ รวม 5 เรื่อง มีมติสรุปได้ดังนี้
2.1 เห็นชอบการขอยกเว้นกรอบวงเงินรวมค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และ 3) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยมีข้อสังเกตว่า การบริหารจัดการงบบุคลากรขององค์การมหาชนควรคิดหาแนวทางในการลดภาระงบประมาณภาครัฐให้มากขึ้น อาทิ เพิ่มการหารายได้ หรือปรับโครงสร้างบุคลากรให้มีสัดส่วนการจ้างงานที่เป็น outsource มากขึ้น เป็นต้น
2.2 เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ของ สบร. ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ และให้นำข้อสังเกตของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปกำหนดเป็นตัวชี้วัดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
2.3 เห็นชอบให้เสนอ กพม. และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เป็นองค์การมหาชนในรูปแบบที่ 3 นอกเหนือจากองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชนฯ และองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัติเฉพาะ แต่เป็นองค์การมหาชนตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณามอบหมาย กพม. ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5/8 แห่ง พ.ร.บ. องค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ครอบคลุมถึงหน่วยงานที่จัดตั้งตามมาตรา 15 ดังกล่าว ทั้งนี้ที่ประชุมได้ฝากข้อสังเกตว่า ในชั้นการพิจารณาตรวจร่าง พรฎ. จัดตั้งหน่วยงานฯ ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ควรอ้างถึง พ.ร.บ. องค์การมหาชนฯ ประกอบกับ พ.ร.บ. สภานโยบายฯ ด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการบริหารงานหน่วยงานในลักษณะเดียวกันซึ่ง ครม. ได้มอบหมายให้ กพม. ทำหน้าที่กำกับดูแลอยู่แล้ว และเพื่ออำนวยความสะดวก (facilitate) ให้หน่วยงานใหม่ทำงานได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานในระยะเริ่มแรก เช่น เงินเดือน ผอ. เบี้ยประชุมคณะกรรมการ งบประมาณบุคลากร ระบบการประเมิน เป็นต้น
2.4 เห็นชอบกับความเห็นสำนักงาน ก.พ.ร. ต่อข้อหารือกรณีที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้วปฏิบัติหน้าที่ทางเวชปฏิบัติ ด้วยการตรวจรักษาพยาบาล และได้เบิกจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานด้านเวชปฏิบัติของโรงพยาบาล ทั้งในเวลาและนอกเวลาทำการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด นั้น ขัดต่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2543 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือไม่ โดยมีมติว่า เป็นอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว หากเห็นว่าการปฏิบัติงานดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ และโรงพยาบาลได้รับประโยชน์จากความรู้ความสามารถของผู้อำนวยการ