ข่าวสาร ก.พ.ร.

สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสำนักงาน ป.ย.ป. จัดการประชุม เรื่อง “การพัฒนาการให้บริการภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ”

1 ธ.ค. 2563
0
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสำนักงาน ป.ย.ป. จัดการประชุม เรื่อง “การพัฒนาการให้บริการภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ” ณ ห้องบอลรูม 1 ชั้น 4 โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) เป็นประธาน และรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ร่วมเป็นเกียรติในการประชุมครั้งนี้ด้วย

การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานการดำเนินการของภาครัฐเพื่อการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และชี้แจงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรการ Ten for ten ที่เป็นข้อเสนอแนะจากทูต 5 ประเทศ และหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย เพื่อการยกระดับการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยจนติด 10 อันดับแรกในรายงานความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก ในวันนี้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมกว่า 19 หน่วยงาน นอกจากนี้ ผู้แทนภาคเอกชนและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอเกี่ยวกับผลการดำเนินงานและทิศทางการปฏิรูปเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ในอนาคตเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และทำให้อันดับของประเทศไทยในรายงานความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจมุ่งสู่ 10 ประเทศแรกจาก 190 ประเทศ

รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) ได้กล่าวถึงความพร้อมของประเทศไทยที่ลงทุนในโครงการสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การแก้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และการดำเนินการตามแนวทางของธนาคารโลกเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ รัฐบาลจะเร่งสร้างสภาพแวดล้อมที่อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ภาคธุรกิจติดต่อภาครัฐได้ “ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และสะดวกขึ้น”

Ms. Birgit Hansl ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แสดงความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยสามารถก้าวสู่ 10 อันดับแรกของประเทศที่มีความง่ายในการทำธุรกิจดีที่สุด ประเทศไทยมีผลการปฏิรูปเชิงประจักษ์ใน 2 เรื่อง ได้แก่ การลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมกับภาครัฐ และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบควบคุมอัตโนมัติมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใส ความพยายามของประเทศไทยถือเป็นการเปิดโอกาสในการเติบโตเพื่ออนาคตที่ดีกว่า “New Opportunity to rebuild better” และชี้ว่าภาครัฐต้องเร่งพัฒนานโยบายและกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำธุรกิจและภาคแรงงานมากยิ่งขึ้น

1. Mr. Stanley Kang ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) กล่าวว่าการพัฒนาให้อันดับดียิ่งขึ้นต้องเข้าใจสภาพตลาด อุปสงค์ และอุปทาน รวมไปถึงการปรับปรุงกฎระเบียบ และการผลักดันการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) เพื่อให้ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการประกอบธุรกิจ สิ่งที่ควรต้องดำเนินการต่อไปคือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการประกอบธุรกิจ (Openness for Business Environment) และการบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ สามารถสร้างการดึงดูดให้ผู้คนเข้าลงทุนในประเทศไทย JFCCT มั่นใจว่าความร่วมมือของภาคเอกชนกับรัฐบาลจะนำไปสู่ภาครัฐระบบเปิด (Open Government) และทำให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มอันดับการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ให้อยู่ใน 10 อันดับแรกของโลกได้

2. นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย และนายณัฐพล เดชวิทักษ์ รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน คาดหมายว่าหากประเทศไทยพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัล (NDTP) ได้สำเร็จ จะเป็นประเทศอันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียนที่นำระบบแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลมาใช้ โดยมีแนวคิดหลักคือ รวมการติดต่อระหว่างกันของภาคเอกชนทั้งผู้ผลิต สถาบันการเงิน บริษัทขนส่ง และส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ ณ จุดเดียว ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และร่วมมือกับภาครัฐ ในการร่วมกันเชื่อมโยงระบบของภาคเอกชนไปยังระบบบริการของภาครัฐ อาทิ ระบบ National Single Window (NSW) ทั้งนี้ มีแผนการพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP เพื่อให้ใช้งานได้ทันรองรับการเป็นเจ้าภาพ APEC ของประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำของภูมิภาคในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและของโลก

3. นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่ากรมศุลกากรได้พัฒนาการให้บริการภาครัฐเพื่ออํานวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจในด้านการค้าระหว่างประเทศ 5 ด้าน ได้แก่ (1) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในงานศุลกากร รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรผ่านการสร้างแรงจูงใจ การชดเชยภาษีอากร และการคืนภาษี (2) นวัตกรรมศุลกากรเพื่อลดระยะเวลาและอำนวยความสะดวก เช่น ระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์แบบขับผ่าน (Drive-Through X-Ray Scanner) (3) พัฒนาระบบศูนย์กลางการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศผ่านระบบ National Single Window (NSW) (4) เชื่อมโยงกับประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Single Window: ASW) มีการเชื่อมโยงข้อมูลหนังสือรับรอง ถิ่นกำเนิดสินค้าอาเซียน (ATIGA e-FORM D) โดยเชื่อมโยงครบ 10 ประเทศเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2562 และ (5) ระบบ NSW e-Tracking on Mobile สามารถติดตาม สถานะของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ NSW ทาง Mobile Application ได้ทุกที่ ทุกเวลา

4. สมชาย มรกตศรีวรรณ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงการจ้างคนต่างชาติมาทำงานแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้บริหารระดับสูงและกลุ่มแรงงานทั่วไป (กลุ่ม Non-BOI) โดยกลุ่มผู้บริหารระดับสูงสามารถใช้บริการ ณ จุดบริการในลักษณะศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One-stop-service Center) รวมถึงมีระบบ Single Window สำหรับออกใบอนุญาตทำงานและการตรวจลงตรา (VISA) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมการจัดหางาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกลุ่มแรงงานทั่วไปในกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (Non-BOI) ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตการทำงานของคนต่างด้าว โดยพิจารณาจากทุนจดทะเบียนของสถานประกอบการ หากสถานประกอบการใดมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท จะสามารถออกใบอนุญาตให้กับสถานประกอบการดังกล่าวได้ 1 คน แต่ไม่เกิน 10 คน

5. นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวถึงการพัฒนาระบบดิจิทัลและรูปแบบการให้บริการเพื่อสนับสนุนการขอรับการส่งเสริมการลงทุนให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นอย่างครบวงจร สำหรับการใช้สิทธิพิเศษจากการส่งเสริมการลงทุนได้มีระบบการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และมีแผนดำเนินการพัฒนาระบบการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนแบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการติดตามสถานะของสิทธิประโยชน์ และช่วยลดการใช้กระดาษ โดยจะดำเนินการเชื่อมโยงระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์เข้ากับระบบของกรมสรรพากรด้วย

6. พันตำรวจเอก กฤตัชญ์ บำรุงรัตนยศ รองผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 กล่าวว่าสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้พัฒนาช่องทางการให้บริการอำนวยความสะดวกแก่คนต่างด้าวเพื่อรายงานตัวทุก 90 วัน จำนวน 3 ช่องทาง ได้แก่ 1) แจ้งด้วยตนเองหรือมอบหมายผู้อื่นนำหนังสือไปแจ้งได้ที่จุดรับบริการ 2) มีหนังสือแจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน 3) แจ้งผ่านทางอินเทอร์เน็ต (TM 47) ซึ่งดำเนินการได้ผ่านเว็บไซต์และ Application ถือเป็นช่องทางอำนวยความสะดวกที่ได้ช่วยให้คนต่างด้าวลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการเดินทาง โดยสามารถดำเนินการได้ผ่านระบบออนไลน์

7. นางสาวฎาฎะณี วุฒิดาดร ผู้อำนวยการกองวิชาการแผนภาษี กล่าวถึงการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกด้านการชำระภาษี โดยเป็นการรับชําระภาษีที่ประชาชนหรือผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้ที่บ้าน (Tax from home) โดยผู้เสียภาษีไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปที่กรมสรรพากร รวมทั้งสามารถยื่นเอกสารต่าง ๆ ได้ทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ให้สามารถชําระภาษีได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และประหยัดค่าใช้จ่าย รวมถึงการสร้างลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) โดยสามารถออกเอกสารไปแล้วกว่า 580 ล้านฉบับ และระบบให้บริการชําระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Stamp Duty) เป็นระบบให้บริการชําระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

8. นางอรัญญา ทองน้ำตะโก อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวถึงการพัฒนาให้กระบวนการบังคับคดีล้มละลายมีขั้นตอนที่สะดวก ประหยัดค่าใช้จ่าย และรวดเร็ว ด้วย 2 นโยบายหลัก คือ (1) การนําเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนงาน ได้แก่ พัฒนาระบบล้มละลายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Insolvency) ที่จะสนับสนุนงานสำนวนคดีล้มละลาย และ (2) การแก้ไขกฎหมายล้มละลาย ใน 2 ส่วนหลัก คือ (1) ให้มีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชนที่สามารถปฏิบัติงานแทนเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อสนับสนุนการรวบรวมทรัพย์สินมาแบ่งชําระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้อย่างรวดเร็ว และ (2) แก้ไขกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ที่จะเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถเข้าใช้กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้มากขึ้น และสามารถให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

9. นายธวัชชัย พิทยาโสภณ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. สายงานกฎหมาย กล่าวว่าสำนักงาน ก.ล.ต. ปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินการเพื่อการมุ่งเน้นให้เกิดความโปร่งใสในการคุ้มครองนักลงทุนเมื่อเกิดกรณีพิพาทเกี่ยวกับการลงทุน และเพื่อให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจว่าจะ ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม และมีความน่าเชื่อถือ โดยยกระดับการคุ้มครองนักลงทุนเสียงข้างน้อย เช่น สร้างกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลที่ดีของบริษัท ขยายการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมให้ครอบคลุมการซื้อขายหลักทรัพย์ทุกช่องทาง (Trading Platform/Venue) และอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อคุ้มครองนักลงทุนและยกระดับบริษัทผู้สอบบัญชี และพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 เพื่อรองรับการนําระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการดำเนินการ เช่น e-Meeting และ e-Document

10. นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการการอนุมัติอนุญาตให้เป็นกระบวนการดิจิทัล โดยออกใบอนุญาตด้วยกระบวนการดิจิทัลแล้วมากกว่าร้อยละ 90 (170 กระบวนงาน จาก 186 กระบวนงาน) และจะพัฒนาการออกใบอนุญาตด้วยกระบวนการดิจิทัลให้ครบทุกกระบวนงานต่อไป อย. มีเป้าหมาย 3 ด้าน ได้แก่ 1) Single Policy โดยผู้บริหารต้องร่วมมือกันตั้งแต่ระดับบนจนถึงระดับล่าง 2) การอนุมัติอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นมาตรฐานเดียวกัน (Single Standard) และ 3) การให้บริการผ่าน Single Platform เพื่อ นําไปสู่ FDA One Platform “Health Product Big Data” เพื่อจะนําข้อมูลมาวิเคราะห์และพัฒนาให้เกิดประโยชน์ และจะ นํา AI มาช่วยในการพัฒนาในอนาคต

11. นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. กล่าวว่าสำนักงาน ป.ย.ป. ได้ทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายระดับอนุบัญญัติ (Regulatory Guillotine) ที่มีขึ้นก่อนปี 2560 โดยพิจารณากระบวนงานที่ได้มีการศึกษาแล้วพบว่า มีปัญหาอุปสรรคจากกฎหมายและกฎระเบียบ จำนวน 1,094 กระบวนงาน ซึ่งควรมีทั้งการยกเลิก (cut) เช่น การยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตซีดีที่ปัจจุบันไม่มีการใช้แล้ว การปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม (change) เช่น การอนุญาตในรูปแบบคณะกรรมการ หรือการปรับระยะเวลาใบอนุญาต การรวบรวมกฎหมายหรือกฎระเบียบที่มีความเชื่อมโยงกัน (combine) รวมทั้งการยกร่างกฎหมายหรือกฎระเบียบในเรื่องที่มีความจำเป็นแต่ยังไม่มีกฎหมายหรือกฎระเบียบรองรับ (create) เป้าหมายการดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบให้แล้วเสร็จร้อยละ 85

จากนั้นมีการแถลงข่าวโดย นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. ร่วมกับนางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย และนายณัฐพล เดชวิทักษ์ รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน

กลุ่มงานการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุ้กกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ปุ่มตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์และประเมินผลการใช้งาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ช่วยให้ ก.พ.ร. ทราบถึงการปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้งานในการใช้บริการเว็บไซต์ของ ก.พ.ร. รวมถึงหน้าเพจหรือพื้นที่ใดของเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยม ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูลด้านอื่น ๆ ก.พ.ร. ยังใช้ข้อมูลนี้เพื่อการปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์ และเพื่อเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้งานมากขึ้น ถึงแม้ว่า ข้อมูลที่คุกกี้นี้เก็บรวบรวมจะเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ และนำมาใช้วิเคราะห์ทางสถิติเท่านั้น การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ ก.พ.ร. ไม่สามารถทราบปริมาณผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ และไม่สามารถประเมินคุณภาพการให้บริการได้

  • คุกกี้เพื่อการโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้เป็นคุกกี้ที่เกิดจากการเชื่อมโยงเว็บไซต์ของบุคคลที่สาม ซึ่งเก็บข้อมูลการเข้าใช้งานและเว็บไซต์ที่ท่านได้เข้าเยี่ยมชม เพื่อนำเสนอสินค้าหรือบริการบนเว็บไซต์อื่นที่ไม่ใช่เว็บไซต์ของ ก.พ.ร. ทั้งนี้ หากท่านปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะไม่ส่งผลต่อการใช้งานเว็บไซต์ของ ก.พ.ร. แต่จะส่งผลให้การนำเสนอสินค้าหรือบริการบนเว็บไซต์อื่น ๆ ไม่สอดคล้องกับความสนใจของท่าน

บันทึกการตั้งค่า