เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมชี้แจงกรอบ และแนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference) โดยความร่วมมือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อสร้างความรู้ และความเข้าใจในการดำเนินการตามตัวชี้วัดให้กับทั้งผู้บริหาร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการกำกับ ติดตาม การดำเนินงานของจังหวัด และสร้างความเข้าใจให้ผู้ปฏิบัติ ได้มีแนวทางในการดำเนินงานตามตัวชี้วัดที่ชัดเจน รวมทั้งการประเมินผู้บริหารองค์การ ที่เป็นข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในหลายเวที เช่น ในการประชุมคณะรัฐมนตรี และในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการ เพื่อเป็นการประเมินผู้บริหารเพิ่มเติมจากกรณีปกติประจำปี ถูกต้อง โดยมีนางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวเปิดการประชุม ณ ห้องประชุม ก.พ.ร. ชั้น 5 สำนักงาน ก.พ.ร.
ในการประชุมมีการชี้แจงแนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และแนวทางการประเมินผู้บริหารองค์กร โดยนางศิริเนตร กล้าหาญ ผู้อำนวยการกองติดตาม ตรวจสอบและประเมินการพัฒนาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ.ร.และมีการชี้แจงแนวทางการประเมินในประเด็น มาตรการลดขยะ และคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ ตามแนวทางการประมินผู้บริหารองค์การ โดยนายบัญชาการ วินัยพานิช นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กรมควบคุมมลพิษ
สำหรับกรอบการประเมินผลตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของจังหวัดยังคงมี 5 องค์ประกอบเช่นเดิม แต่มีความแตกต่างจากปีที่ผ่านมา คือ จังหวัดจะประเมินเพียง 3 องค์ประกอบเท่านั้น ได้แก่ องค์ประกอบที่ 2 Agenda Base ประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามหลักภารกิจยุทธศาสตร์ แนวทางปฏิรูปภาครัฐ นโยบายเร่งด่วน หรือภารกิจที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษ องค์ประกอบที่ 3 Area Base ประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามหลักภารกิจพื้นที่/ท้องถิ่น ภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด และองค์ประกอบที่ 4 ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรมในการบริหารจัดการระบบงาน งบประมาณ ทรัพยากรบุคคล และการให้บริการประชาชน หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อไปสู่ระบบราชการ 4.0 โดยไม่มีการประเมินองค์ประกอบที่ 5 เหมือนปี 2561 ซึ่งเป็นการกำหนดตัวชี้วัดลดลง แต่เป็นตัวชี้วัดที่มีความสำคัญกับจังหวัดโดยแท้จริง รวมทั้ง ยังพยายามผลักดันให้จังหวัดจัดทำฐานข้อมูลสำคัญที่มีความครบถ้วน น่าเชื่อถือเพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาจังหวัด และสนับสนุนยุทธศาสตร์ของจังหวัด โดยฐานข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ส่วนหนึ่งจังหวัดมีการจัดเก็บอยู่แล้ว แต่อาจจะไม่ทันสมัย ก็นำฐานข้อมูลเหล่านี้กลับมาทำใหม่ให้ดียิ่งขึ้น มีฐานข้อมูลบางส่วนก็ให้จังหวัดจัดเก็บเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อยในปี 2562
นอกจากนี้ เกณฑ์การให้คะแนนได้เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย ที่จากเดิมผลการประเมินในองค์ประกอบไหนที่มีผลการดำเนินงานต่ำกว่าเป้าหมาย จะทำให้จังหวัดนั้นอยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุงทันที เป็นเกณฑ์ใหม่ที่คิดเกณฑ์รวมเฉลี่ยทั้ง 5 องค์ประกอบ ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งปรับรอบการประเมินผลเหลือเพียงรอบเดียว เพื่อมิให้เป็นภาระแก่จังหวัด
ส่วนเกณฑ์การประเมินผู้บริหารองค์การได้เพิ่มตัวชี้วัด มาตรการลด และคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐขึ้น ส่วนตัวชี้วัดอื่น ๆ ไม่ต่างจากปี 2561 แต่เป็นการปรับข้อคำถามให้มีความชัดเจนมากขึ้น
กลุ่มงานเลขานุการ ก.พ.ร. และการประชาสัมพันธ์ / จัดทำ