ปัญหาโลกร้อนและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีความรุนแรงและพบเห็นบ่อยครั้งในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก จึงได้มีความตกลงปารีสในการประชุม COP 21 ณ กรุงปารีส เกิดขึ้นเมื่อปี 2558 เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมและได้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 – 25 ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ผ่านการดำเนินการในสาขาพลังงานและขนส่ง สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และสาขาการจัดการของเสีย
การทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายอย่างเข้มแข็งและเป็นระบบ จะนำไปสู่ผลสำเร็จในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาโลกร้อนและภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ ได้ในระยะยาว และในปี 2567 ภายใต้ความร่วมมือของ 31 หน่วยงาน ที่มีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยหลักขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกไปสู่เป้าหมาย ร่วมกับอีก 29 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรธรณี กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมการขนส่งทางบก สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมวิชาการเกษตร การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ โดยกำหนดให้มีตัวชี้วัดความสำเร็จร่วมกัน (Joint KPIs) ของ 31 หน่วยงาน