สำนักงาน ก.พ.ร. จัดสัมมนาผู้ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ เพื่อเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประสบการณ์เกี่ยวกับการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักเกณฑ์การพิจารณารางวัลเลิศรัฐ ระหว่างวันที่ 6-7 มกราคม 2566 ณ จังหวัดสมุทรสงคราม
ผู้ตรวจประเมินรางวัลเลิศได้ศึกษาดูงานโรงเรียนป่าชายเลนจังหวัดสมุทรสงครามที่มีความโดดเด่นในการเอาชนะภัยธรรมชาติด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน และเคยได้รับรางวัลเลิศรัฐสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมระดับดี ประจำปี 2564 โดยมีนายกรกฎ วงษ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และนายวิสูตร นวมศิริ ให้การต้อนรับ
นายกรกฎ วงษ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า บริเวณโรงเรียนป่าชายเลนแห่งนี้ เรียกว่า บางบ่อล่าง หมู่ที่ 10 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองสมุทรสงคราม เป็นพื้นที่เป้าหมายหลักตามโครงการปลูกป่าชายเลนของจังหวัดสมุทรสงครามเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งที่รวมตัวกันต่อสู้กับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอ่าวไทยโดยเริ่มต้นการปลูกป่าชายเลนมาตั้งแต่ปี 2550 ภายใต้การนำของนายวิสูตร นวมศิริ หรือผู้ใหญ่แดง และในปีงบประมาณ 2563 จังหวัดสมุทรสงครามได้ยกระดับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอ่าวไทยเป็นวาระของจังหวัดโดยกำหนดเป็นนโยบายในการขับเคลื่อนการปลูกป่าชายเลนแบบมีส่วนร่วมตลอดปี 2563 – 2564 อย่างจริงจัง กำหนดกลไกดำเนินงานในรูปของคณะทำงานประกอบด้วยส่วนราชการภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสนับสนุนการดำเนินงาน ทำให้การดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนแบบมีส่วนร่วมของจังหวัดสมุทรสงครามเกิดความสำเร็จมีการปลูกป่าชายเลนรวมจำนวน 64 ครั้ง ได้พื้นที่ป่าชายเลน 47.37 ไร่ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 5,667 คนเป็นผลดีต่อการฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งทะเลสร้างรายได้ให้ชุมชนประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้ป่าชายเลนที่สมบูรณ์เป็นมรดกสืบทอดให้ลูกหลานต่อไป
นายธนศักดิ์ มังกโรทัย ผู้อำนวยการกองนวัตกรรมบริการภาครัฐ สำนักงาน กพ.ร. กล่าวว่า การลงพื้นที่ของคณะที่เลือกมาศึกษาดูงานโรงเรียนป่าชายเลนจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อมาศึกษาวิธีการดำเนินโครงการกิจกรรมการปลูกป่าชายเลนที่นำทุกภาคส่วนมามีส่วนร่วมจนประสบความสำเร็จ สามารถเป็นสถานที่ท่องเที่ยว การศึกษาดูงาน รวมทั้งการปลูกป่าชายเลนจากทุกภาคส่วนจนป่าชายเลนเป็นแนวป้องกันการกัดเซาะจากคลื่นลมทะเล พร้อมทั้งจะนำความรู้ที่ได้นำไปปรับใช้เกณฑ์การให้คะแนนของการประเมินรางวัลเลิศรัฐในปีต่อไป ต่อจากนั้นนายวิสูตร นวมศิริ หรือผู้ใหญ่แดงได้บรรยายความเป็นมาตั้งแต่เริ่มจนถึงปัจจุบันของของโรงเรียนฯ แห่งนี้ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากจังหวัดสมุทรสงคราม เพียง 30,000 บาทเท่านั้น ซึ่งที่โรงเรียนป่าชายเลน มีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยการปลูกป่าชายเลน การพายเรือคายัค และปั่นจักรยาน รอบเส้นทางป่าชายเลน และนิทรรศการเรื่ององค์ความรู้ป่าชายเลน
จากนั้นเป็นการสัมมนาผู้ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของผู้ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ โดยมีนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานการสัมมนา ซึ่งผู้ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐที่หลากหลาย เช่น การพัฒนาหลักเกณฑ์รางวัลเลิศรัฐให้รองรับ Sustainability Trends ในอนาคต การตรวจประเมินในพื้นที่ปฏิบัติจริงให้มากขึ้น โดยเฉพาะผลงานอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รางวัลในระดับดีเด่น และต้องพิจารณาถึง Key Point ที่แสดงถึงภาพรวมในการตรวจประเมินฯ การสร้างแรงจูงใจและกำลังใจแสดงความชื่นชมหน่วยงานที่ส่งสมัครรางวัล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานมีการพัฒนาการทำงาน และเกิดประโยชน์ต่อประชาชน การจัดคลินิกรางวัล รวมทั้ง ประชาสัมพันธ์รางวัลเลิศรัฐให้แก่หน่วยงานที่ไม่เคยส่งสมัครรางวัลด้วยการวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของหน่วยงานและเข้าไปพบผู้บริหารหน่วยงานเพื่อเชิญชวนให้สมัครรางวัล เป็นต้น
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. จะนำความเห็นของผู้ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐมาปรับปรุงและพัฒนาการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐในขั้นตอนต่าง ๆ ต่อไป