เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดการประชุม อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการประเมินส่วนราชการ ตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ครั้งที่ 1/2566 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายวรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานในการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาและรับทราบเรื่องสำคัญ สรุปได้ดังนี้
1. เห็นชอบตัวชี้วัดเชิงยุทธศาสตร์สำคัญ (Strategic KPIs) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของ 40 ส่วนราชการ จำนวน 197 ตัวชี้วัด ที่มีการทบทวนให้สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2566 – 2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) แผนการปฏิรูปประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) และให้สำนักงาน ก.พ.ร. แจ้งส่วนราชการเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป2. รับทราบรายงานผลการประเมินส่วนราชการ ตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ประกอบด้วย 2.1 ผลคะแนนตัวชี้วัดกระทรวง (Basket KPIs) จำนวน 18 กระทรวง โดยมีคะแนนสูงที่สุด เท่ากับ 100 คะแนน คะแนนต่ำที่สุด เท่ากับ 67.35 คะแนน และคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 90.27 คะแนน ทั้งนี้ ผลคะแนนตัวชี้วัดกระทรวงจะไม่นำมาใช้ในการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพฯ แต่มีการนำตัวชี้วัดกระทรวงมากำหนดเป็นตัวชี้วัดในการประเมินตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพฯ ของส่วนราชการระดับกรมที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับตัวชี้วัด
2.2 ผลการประเมินตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพฯ ของส่วนราชการระดับกรม จำนวน 154 ส่วนราชการ โดยมีคะแนนสูงที่สุด เท่ากับ 100 คะแนน คะแนนต่ำที่สุด เท่ากับ 64.27 คะแนน และคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 93.22 คะแนน ทั้งนี้ สามารถสรุปผลการประเมินฯ แบ่งตามเกณฑ์การประเมิน ดังนี้- ระดับคุณภาพ จำนวน 116 ส่วนราชการ คิดเป็น ร้อยละ 75.32
- ระดับมาตรฐานขั้นสูง จำนวน 31 ส่วนราชการ คิดเป็น ร้อยละ 20.13
- ระดับมาตรฐานขั้นต้น จำนวน 7 ส่วนราชการ คิดเป็น ร้อยละ 4.54
- ระดับต้องปรับปรุง จำนวน 0 ส่วนราชการ
3. รับทราบรายงานผลการประเมินส่วนราชการ ตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ประกอบด้วย
3.1 ผลการประเมินตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพฯ ของจังหวัด จำนวน 76 จังหวัด โดยมีคะแนนสูงที่สุด เท่ากับ 100 คะแนน คะแนนต่ำที่สุด เท่ากับ 64.49 คะแนน และคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 91.55 คะแนน ทั้งนี้ สามารถสรุปผลการประเมินฯ แบ่งตามเกณฑ์การประเมิน ดังนี้
- ระดับคุณภาพ จำนวน 52 จังหวัด คิดเป็น ร้อยละ 68.42
- ระดับมาตรฐานขั้นสูง จำนวน 21 จังหวัด คิดเป็น ร้อยละ 27.63
- ระดับมาตรฐานขั้นต้น จำนวน 3 จังหวัด คิดเป็น ร้อยละ 3.95
- ระดับต้องปรับปรุง จำนวน 0 จังหวัด
3.2 สรุปการดำเนินงานตัวชี้วัดที่สำคัญของจังหวัด ได้แก่ ความสำเร็จในการพัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน (66 จังหวัด) และร้อยละของปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง (38 จังหวัด)
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดทำตัวชี้วัด และการประเมินส่วนราชการ ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. จะได้รับข้อสังเกตไปดำเนินการต่อไป