เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมสัมมนาโครงการวิเคราะห์และปรับกระบวนการทำงาน (Re-Process) และจัดทำระบบต้นแบบ (Prototype) เพื่อการบริการภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายผลการพัฒนากระบวนการทำงานและการให้บริการไปยังหน่วยงานภาครัฐอื่น ซึ่งมีผู้แทนส่วนราชการเข้าร่วมจำนวน 130 คน จาก 60 หน่วยงาน โดยมีนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร กล่าวเปิดการประชุมสัมมนาฯ ซึ่งได้กล่าวถึงความสำคัญของการปรับตัวของภาครัฐและการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนางานบริการภาครัฐ เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 และเทรนด์ใหม่ในยุค VUCA World ส่งผลให้ภาครัฐในอนาคตต้องมีการปรับตัว เช่น การนำนวัตกรรมมาปรับใช้ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และความสามารถในการรวมความหลากหลายของคนในองค์กรที่มีทักษะความรู้ที่แตกต่างกัน ซึ่งแนวคิดการอออกแบบงานภาครัฐรูปแบบใหม่ ได้แก่ 1) ส่งเสริมการให้บริการในรูปแบบอัตโนมัติ (Automated Processing) 2) นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาให้บริการ ประชาชนไม่ต้องมาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ (Zero-touch) 3) ลดขั้นตอนการอนุมัติ อนุญาต และ 4) ทบทวนปัญหาอุปสรรคของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ อนุญาต ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหมุดหมายที่ 13 ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งต้องการให้ประเทศไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน
นางสาวนิชา สาทรกิจ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ได้กล่าวชี้แจงการคัดเลือกและจัดกลุ่มงานบริการในโครงการทั้งหมดจำนวน 20 งานบริการ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 งานบริการออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มที่ 2 งานบริการขึ้นทะเบียนหรือรับจดทะเบียน และกลุ่มที่ 3 งานอื่น ๆ ได้แก่ งานบริการเกี่ยวกับระบบรับข้อมูลเพื่อจัดทำรายงาน (e-Filing & e-Report) ระบบทะเบียนรายชื่อ ระบบรับยื่นความประสงค์ขออบรม จองสิทธิ์การเข้าอบรมและรองรับการเรียนรู้ออนไลน์ ระบบจองสิทธิ์การเข้าพื้นที่ (e-Ticket) และระบบขอเอกสารรับรอง (e-Stamp) โดยการประชุมสัมมนาฯ ครั้งนี้เป็นการขยายผลการศึกษาและพัฒนางานบริการในกลุ่มที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยงานบริการ ดังนี้
- งานบริการที่ 1 ระบบการรับรองมาตรฐาน GAP ประมง
- งานบริการที่ 2 ระบบการรับรองมาตรฐาน GAP พืช
- งานบริการที่ 3 การยื่นรับการจัดที่ดินแทนที่เกษตรกรผู้ได้รับการจัดให้เข้าทำประโยชน์ซึ่งสละสิทธิ
- งานบริการที่ 4 การขอความยินยอมหรือใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน
- งานบริการที่ 5 ระบบ e-Service การบริหารจัดการสัตว์ป่าควบคุมในการรับแจ้งการครอบครอง การขออนุญาตเพาะพันธุ์ และขออนุญาตค้า
- งานบริการที่ 6 การอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ (กรณีการขอรับใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์)
- งานบริการที่ 7 การอนุญาตให้ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ (การขอรับใบอนุญาตให้ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์)
จากนั้น ดร.ชนะกัญจน์ ศรีรัตนบัลล์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และทีมที่ปรึกษาได้นำเสนอแนวทางและแผนการดำเนินงาน ในการปรับกระบวนการทางาน (Re-Process) เพื่อรับคำขอหรือให้บริการในรูปแบบดิจิทัลได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน (24/7) ในแต่ละกลุ่มความพร้อมในรูปแบบ Web Service และระบบต้นแบบ (Prototype) ของหน่วยงานภาครัฐนำร่องในงานกลุ่มที่ 1 พร้อมทั้งได้นำเสนอการวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการปรับปรุงกระบวนงาน (Re-Process) เห็นได้ว่าจะมีการประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้รับบริการในแต่ละงานไม่ต่ำกว่ารายละ 1,000 บาท นอกจากนี้งานบริการในกลุ่มนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานบริการอื่น ๆ ได้ เช่น การรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีด้านปศุสัตว์ (GAP) สำหรับสถานที่ฟักไข่สัตว์ปีก การขอโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุ การยื่นขออนุญาติใช้ประโยชน์ในที่ดินในเขตนิคมสหกรณ์ การขออนุญาตและจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมการค้า/หอการค้า การขออนุญาตนำสินค้าออก หรือกลับคืนโรงอุตสาหกรรม คลังสินค้าทัณฑ์บน หรือสถานที่อื่น เป็นต้น นอกจากนี้ หน่วยงานยังให้ความสนใจเกี่ยวกับการเชื่อมโยงข้อมูลและระบบงานของหน่วยงานภาครัฐอื่น อาทิเช่น การชำระค่าธรรมเนียมผ่านระบบ e-Payment Portal of Government ของกรมบัญชีกลาง การยืนยันตัวตนผ่าน D.DOPA และการเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎร ของกรมการปกครอง เพื่อใช้ประโยชน์จากการระบบที่ได้พัฒนาไว้แล้ว และยังเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐผ่านดิจิทัลด้วย
ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมสัมมนาฯ สำหรับงานบริการกลุ่มที่ 2 ต่อไป