เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมสัมมนาโครงการวิเคราะห์และปรับกระบวนการทำงาน (Re-Process) และจัดทำระบบต้นแบบ (Prototype) เพื่อการบริการภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายผลการพัฒนากระบวนการทำงานและการให้บริการไปยังหน่วยงานภาครัฐอื่น ซึ่งมีผู้แทนส่วนราชการเข้าร่วมจำนวน 151 คน จาก 60 หน่วยงาน โดยมีนายชัยณรงค์ โชไชย ที่ปรึกษาการขับเคลื่อนระบบราชการด้านนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ สำนักงาน ก.พ.ร. กล่าวเปิดการประชุมสัมมนาฯ โดยให้ความสำคัญในเรื่องการปรับกระบวนการทำงาน (Re-Process) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาในใช้ และการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้รองรับการทำงานในยุคดิจิทัล ผลการดำเนินการของโครงการนี้จะเป็นแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐได้นำไปพัฒนางานบริการของหน่วยงานต่อไป ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนภาครัฐให้ก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล จากนั้น ได้กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ แผนการดำเนินงาน การคัดเลือกและจัดกลุ่มงานบริการในโครงการทั้งหมดจำนวน 20 งานบริการ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 งานบริการออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มที่ 2 งานบริการขึ้นทะเบียนหรือรับจดทะเบียน และกลุ่มที่ 3 งานอื่น ๆ ได้แก่ งานบริการเกี่ยวกับระบบรับข้อมูลเพื่อจัดทำรายงาน (e-Filing & e-Report) ระบบทะเบียนรายชื่อ ระบบรับยื่นความประสงค์ขออบรม จองสิทธิ์การเข้าอบรมและรองรับการเรียนรู้ออนไลน์ ระบบจองสิทธิ์การเข้าพื้นที่ (e-Ticket) และระบบขอเอกสารรับรอง (e-Stamp) โดยการประชุมสัมมนาฯ ครั้งนี้เป็นการขยายผลการศึกษาและพัฒนางานบริการในกลุ่มที่ 2 ซึ่งประกอบด้วยงานบริการ ดังนี้
- งานบริการที่ 8 การขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ขึ้นทะเบียนเกษตรกรประมง ทบ.1, ทบ.3)
- งานบริการที่ 9 การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการด้านประมง (ทบ.2)
- งานบริการที่ 10 งานขึ้นทะเบียนสถานประกอบการส่งออกสัตว์น้ำ
- งานบริการที่ 11 การจดทะเบียนผู้ส่งออกผักและผลไม้ไปต่างประเทศ
- งานบริการที่ 12 การขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช
- งานบริการที่ 13 การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการ
- งานบริการที่ 14 การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ
จากนั้น ดร.ธนาวิชญ์ จินดาประดิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และทีมที่ปรึกษาได้นำเสนอแนวทางและแผนการดำเนินงาน ในการปรับกระบวนการทำงาน (Re-Process) เพื่อรับคำขอหรือให้บริการในรูปแบบดิจิทัลได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน (24/7) ในแต่ละกลุ่มความพร้อมในรูปแบบ Web Service และระบบต้นแบบ (Prototype) ของหน่วยงานภาครัฐนำร่องในงานกลุ่มที่ 2 ซึ่งการพัฒนาระบบต้นแบบได้มีแนวคิดหลัก 2 ประเด็น ได้แก่ 1) Digital Transformation การแปรรูปทางดิจิทัล และ 2) Digital Collaborative Technology การผสานการทำงานร่วมกันทางดิจิทัล เพื่อยกระดับประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้รับบริการ รวมถึงอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่อีกด้วย พร้อมทั้งได้นำเสนอวิธีการสมัครการเข้าใช้ระบบต้นแบบด้วยระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และความคุ้มค่าในการปรับปรุงกระบวนทำงาน (Re-Process) ซึ่งนอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้รับบริการเฉลี่ยรายละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทแล้ว ยังช่วยให้ประหยัดเวลาในการติดต่อขอรับบริการ และสามารถติดตามสถานะการขอรับบริการได้อีกด้วย นอกจากนี้งานบริการในกลุ่มนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานบริการอื่น ๆ ได้ เช่น การขึ้นทะเบียนเกษตรผู้เลี้ยงหม่อนไหม การลงทะเบียนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP การออกหนังสือแจ้งการนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักร (นส.4) (อาหารสัตว์น้ำ) การขึ้นทะเบียนสิทธิผู้ประกอบการสมุนไพร การขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งผลิตพืชควบคุม การยื่นคำขอการช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา การยื่นคำขอรับทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดคืน เป็นต้น
ภายในงานได้นำระบบต้นแบบงานบริการต่าง ๆ ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ทดลองใช้ นอกจากนี้ หน่วยงานยังให้ความสนใจนำระบบต้นแบบไปพัฒนาต่อ การพัฒนาในฟังก์ชันต่าง ๆ เพื่อนำไปปรับใช้กับงานบริการของหน่วยงาน รวมถึงให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เพื่อพัฒนางานบริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น Digital ID สำหรับการเข้าใช้งานบริการภาครัฐควรมีชุดเดียว เพื่อสะดวกต่อการใช้งานของประชาชน เป็นต้น