เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (คสดช.) ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. เข้าร่วมประชุม
ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการตามมติที่ประชุมครั้งที่ผ่านมา อาทิ การประชาสัมพันธ์เชิงรุกตามแผนการขับเคลื่อนมาตรการ LTR การดำเนินการด้านงบประมาณ การรับสมัครตัวแทนที่ได้รับการรับรอง รวมถึงการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือแนวทางการปรับปรุงมาตรการ พร้อมทั้งพิจารณาให้ความเห็นชอบการดำเนินการในวาระต่าง ๆ ดังนี้
- การปรับปรุงอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับการทำงานในประเทศไทยของผู้ขอรับรองคุณสมบัติ Long-Term Resident Visa (LTR Visa) กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (Highly Skilled Professional) โดยเพิ่มเติมอุตสาหกรรมเป้าหมายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาล รวมถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายของ Smart Visa เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการพิจารณารับรองคุณสมบัติแก่ชาวต่างชาติที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ
ในสาขาที่ประเทศยังขาดแคลน เช่น อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมอากาศยานและอวกาศ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ เป็นต้น - การรับรองนิติบุคคลให้ดำเนินการเป็นตัวแทนให้แก่ชาวต่างชาติที่ยื่นขอรับรองคุณสมบัติ ขอตรวจลงตราและขออนุญาตทำงานภายใต้ LTR Visa ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาตามที่กำหนด ซึ่งคณะกรรมการฯ ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ควรมีการกลไกติดตามประเมินผลการดำเนินการของตัวแทนเพื่อให้การให้บริการเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ประธานได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดให้มีเวทีร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อสื่อสารและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการเรื่องต่าง ๆ ของภาครัฐ และรับฟังปัญหาอุปสรรครวมถึงข้อเสนอแนะของภาคเอกชนเพื่อพัฒนาบริการภาครัฐที่จะอำนวยความสะดวกในการลงทุนและการประกอบธุรกิจเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป
นอกจากนี้ รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุนของธนาคารโลก ภายใต้ชื่อรายงาน Business Enabling Environment (BEE) โดยมีประเด็นหลักในการประเมิน 3 เรื่อง ได้แก่ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ (Digital adoption) ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental sustainability) และความเสมอภาคทางเพศ (Gender equality) ให้ที่ประชุมรับทราบเพิ่มเติมด้วย