เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่าน (วันที่ 12 ก.พ. 66) สำนักงาน ก.พ.ร. จัดกิจกรรม OpenGov Space “Open Story ครั้งที่ 1 : Roadmap สู่ Net zero” การใช้ข้อมูลเปิดของรัฐเพื่อร่วมแก้ไขวิกฤติ Climate Change PM2.5 และการจัดการพลังงานสะอาด ผ่านทางไลฟ์สด Facebook page : Opengovthailand
โดยได้เชิญตัวแทนผู้ที่มีประสบการณ์จากภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน
- คุณธีรพงษ์ เหล่าพงศ์พิชญ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- คุณอโณทัย สังข์ทอง ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารและทะเบียนคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
- คุณมานนีย์ พาทยาชีวะ เลขาธิการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า
- คุณชยุตม์ สกุลคู ประธานบริษัท Tact Social Consulting
ทั้ง 4 ท่านได้มาร่วมพูดคุยและแบ่งปันแนวคิดภายใต้หัวข้อ “Road map สู่ Net zero” สรุปประเด็นได้ดังนี้
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2021 – 2030 ลดก๊าซเรือนกระจกลง 30-40% และภายใต้เป้าหมายนี้ก็มีจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ละสาขามาร่วมด้วย เช่น ด้านพลังงาน การท่องเที่ยว การเกษตร การขนส่งอุตสาหกรรม การจัดการของเสีย ที่จะช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 200 ล้านตัน
- สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดจัดทำแผนปฎิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก และแผนปฎิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับจังหวัด เพื่อเป็นการสร้างความรับรู้และความเข้าใจในเรื่องของก๊าซเรือนกระจกให้กับทางจังหวัด รวมทั้ง มีการทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกในระดับพื้นที่ขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นว่า ระดับพื้นที่ใดที่การปล่อยก๊าซจำนวนเท่าไหร่ รวมถึงการทำแผนที่ความเสี่ยงในระดับจังหวัดอีกด้วย นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการประสานงานที่เกี่ยวข้องในเชิงพื้นที่ ได้มีการจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดตั้งหน่วยงาน
- องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้อง คือ
- “โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER)” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ และสามารถนำปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น ที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิต จะมีการทำกระบวนการตามขั้นตอน เมื่อผ่านตามมาตรฐานแล้ว จะได้รับการรับรองมาตรฐานจาก T-VER อีกด้วย
- “โครงการคาร์บอนฟุตพริ้นขององค์กร” ปัจจุบันมีการเข้าร่วมกว่า 150 องค์กร ที่มีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ซึ่งจะทำให้รู้ว่าจุด Hotspot ไหนที่มีการปล่อยเยอะที่สุด เพื่อจะนำไปสู่การแก้ไขการลดก๊าซเรือนกระจดต่อไปได้
- การพัฒนาแอปพลิเคชัน “CF Calculator” ขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดใช้ได้ฟรี เพื่อทำให้เห็นว่าพฤติกรรมตนเองก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกไปเท่าไหร่บ้าง และกิจกรรมไหนที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเยอะเป็น 3 อันดับแรก เพื่อเป็นการตระหนักรู้ของประชาชน และจะได้ลดการกระทำในสิ่งนั้นได้
4. การส่งเสริมให้ภาคประชาชนรวมพื้นที่ภายในชุมชน เพื่อที่จะนำมาขึ้นทะเบียนในการขอ Carbon credit ได้ อาจนำไปสู่รายได้ทางอ้อมที่เกิดขึ้นในชุมชน
5. กลไกที่เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก ดังนี้
• กรมสรรพากร เห็นถึงความสำคัญในเรื่องส่งเสริมและสนับสนุนของป่าชุมชน โดยการให้ประชาชนสามารถเข้ามาบริจาค ผ่านทาง e-donation ของกรมสรรพากร และเลือกสนับสนุนในหมวดป่าไม้ของกรมป่าไม้ ในเงินส่วนนี้จะนำไปพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ และเงินจำนวนดังกล่าวที่บริจาค สามาถนำมาลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
• การให้ความรู้และความเข้าใจกับภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของภาคเอกชน เช่น
- การจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ในเรื่องของก๊าซเรือนกระจก ภาวะโลกร้อน เช่น โครงการ Thailand Climate Action Conference (TCAC) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขับเคลื่อนภายในประเทศ และยังสามารถให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเข้าร่วมเพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน
- โครงการส่งเสริมงานบอลประเพณี ในรูปแบบ free event โดยการเริ่มให้น้องๆนักศึกษา นำไม้เก่าหรือของใช้เก่าที่สามารถใช้ได้จากกิจกรรมต่าง ๆ มาเปลี่ยนแปลงให้เป็นพาเลทไม้ หรืออื่น ๆ หรือจะเป็นในเรื่องของอาหาร ทำให้เห็นภาพของขยะอาหารที่เกิดจากการกระทำของตัวเอง และยังมีการร่วมมือของทางมหาวิทยาลัยในการนำถังขยะมาแยกประเภท และวางไว้ตามจุดต่าง ๆ เพราะขยะบางชนิดสามารถนำมา Recycle ได้ ทั้งนี้ยังเป็นการสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ด้วย
6. การลดสัดส่วนของการใช้เชื้อเพลิงที่เป็น fossil fuel (พลังงานก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน) และเพิ่มพลังงานหมุนเวียน หรือการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ของภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการลดก๊าซเรือนกระจกในต่อ ๆ ไป
“เพราะทุกคนมีโอกาสปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้”
แล้วพบกันใหม่ในครั้งหน้ากับกิจกรรม OpenGov Space Open Story ครั้งที่ 2 เรื่องความโปร่งใสในหน่วยงานรัฐ ในเดือนมีนาคมนี้ ที่นี่เลยจ้า
กดติดตามเพจ Opengovthailand เพื่อไม่ให้พลาดข่าวสารและกิจกรรมดี ๆ ที่คุณก็สามารถร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาภาครัฐกันนะคะ 🙂