สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อแนวทางการจัดทำรายงานผลการดำเนินการพัฒนาองค์การ (Application Report) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับหน่วยงานที่ผ่านการพิจารณาในขั้นตอนที่ 1 รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 ในวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2566 และรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ระดับดีเด่นและรายหมวด ในวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานเกิดความรู้ ความเข้าใจแนวทางการเขียนรายงานผลการดำเนินการพัฒนาองค์การ ซึ่งสามารถสรุปรายละเอียด ดังนี้
รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 วันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2566
นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวเปิดการประชุม และกล่าวในหัวข้อ “เรียนรู้เคล็ดลับความสำเร็จพิชิตรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0” ที่เน้นความเชื่อมโยงของ PMQA 4.0 กับระบบราชการ 4.0 ให้เป็นระบบราชการเปิดกว้างและเชื่อมโยง ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีขีดสมรรถนะสูงทันสมัย โดยมีปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาสู่ระบบราชการ 4.0 ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ระดับก้าวหน้า ระดับพัฒนาจนเกิดผล เริ่มจากการจัดทำนโยบายยุทธศาสตร์ และบูรณาการร่วมกับเครือข่ายทั้งภายในและภายนอก มีการปรับปรุงกระบวนการทำงาน งานบริการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรให้รองรับการเป็นระบบราชการ 4.0 และผู้บริหารเป็นผู้นำในการพัฒนา
รศ. รัชต์วรรณ กาญจนปัญญาคม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการองค์การ กล่าวถึงเป้าหมายของการเป็นระบบราชการ 4.0 ต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนและเชื่อถือไว้วางใจได้ ต้องเปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีการพลิกโฉมมุ่งปรับปรุงทั้งองค์การตั้งแต่การใช้สารสนเทศ มองว่าระบบราชการเดิมมีการพัฒนาที่ล้าช้า แต่ในปัจจุบันนั้นมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ เริ่มเข้าใจเริ่มเรียนรู้และปรับเปลี่ยนได้เร็ว เข้าถึงความต้องการของประชาชน การปรับเกณฑ์ PMQA 4.0 เน้นให้ส่วนราชการเข้าใจบทบาท สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ตอบสนองได้รวดเร็ว เน้นผลลัพธ์ทั้งปัจจุบันและอนาคต ต้องมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทุกระดับ
นางเบญจมาภรณ์ ภิญโญพรพาณิชย์ รักษาการนักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ และผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร กรมควบคุมโรค ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐของกรมควบคุมโรค โดยได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน จัดทำแผนการพัฒนาผ่านโปรแกรม DDC-PMQA 4.0 มีระบบในการกำกับติดตามการดำเนินงานที่ชัดเจน ซึ่งปัจจัยความสำเร็จในการดำเนินการ ประกอบด้วย 5 ส. ได้แก่ ส.1 สร้างความรู้ความเข้าใจ ส.2 สร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมของบุคลากรในองค์กร ส.3 สร้างทีมงานเข้มแข็ง มีประสบการณ์ และร่วมกันพัฒนาผลงาน ส.4 สร้างระบบการติดตามผลการดำเนินงานและจัดเก็บข้อมูล และ ส.5 ส่งเสริม สนับสนุน และกำหนดเป็นนโยบายของผู้บริหาร
ดร.ภาวนา กิตติวิมลชัย รักษาการแทนผู้อำนวยการกองพัฒนาคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเกณฑ์การประเมินสถานะการเป็นระบบราชการ 4.0 และให้คำปรึกษาการจัดทำรายงานผลการพัฒนาองค์การในแต่ละหมวด โดยระบุจุดเน้น และประเด็นสำคัญที่หน่วยงานควรต้องนำเสนอเพื่อสะท้อนให้เห็นความโดดเด่น และผลลัพธ์ที่ชัดเจนในการพัฒนาสู่การเป็นระบบราชการ 4.0
รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ระดับดีเด่นและรายหมวด ในวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2566
นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวเปิดประชุมและบรรยายในหัวข้อ “ไขกุญแจความสำเร็จพิชิตรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ” เริ่มจากหลักคิด 11 Core Values ซึ่งเป็นค่านิยมในการบริหารไปสู่องค์การที่เป็นเลิศ ที่จะต้องมีมุมมองเชิงระบบการ การนำองค์การอย่างมีวิสัยทัศน์ ความเป็นเลิศที่มุ่งเน้นผู้รับบริการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การมุ่งเน้นความสำเร็จ การสนับสนุนนวัตกรรม เป็นต้น รวมทั้งได้เผยเคล็ดลับสำคัญ เป็นประเด็นที่ควรมุ่งเน้นในแต่ละหมวดซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการก้าวสู่การพิชิตรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับดีเด่น และรางวัลรายหมวด
ดร.ภาวนา กิตติวิมลชัย และทีมวิทยากรจากมหาวิทยาลัยจากขอนแก่น รศ.พญ.สุพินดา คูณมี และรศ.โชติชนะ วิไลลักขณา ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นเกณฑ์ในการประเมินรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ระดับดีเด่น และรางวัลรายหมวด รวมถึง ได้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับจุดเน้นในการดำเนินการในแต่ละหมวดที่หน่วยงานควรรายงานเพื่อสะท้อนความโดดเด่นของหมวดที่สมัครรางวัล
สำหรับการรับสมัครรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ประจำปี พ.ศ. 2566 เปิดรับสมัครระหว่าง วันที่ 20 ธันวาคม 2565 ถึง วันที่ 15 มกราคม 2566 มีหน่วยงานภาครัฐสมัครรางวัลจำนวน 365 ผลงาน และผ่านการประเมินขั้นตอนที่ 1 จำนวน 167 ผลงาน สำหรับการดำเนินการขั้นต่อไปจะเป็นการประเมินขั้นตอนที่ 2 ซึ่งเป็นการประเมินรายงานผลการพัฒนาองค์การ (Application Report) โดยจะเปิดระบบให้หน่วยงานส่งเอกสารประกอบการพิจารณาขั้นตอนที่ 2 ภายในวันที่ 22 มีนาคม 2566