ผู้เขียนสังเกตว่าทุกครั้งที่มีข่าวการเพิ่มวันหยุดพิเศษ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด สื่อบ้านเราจะมีการพาดหัวตัวเป้งเสมอว่า เป็นต้นว่า “เฮ ครม. มีมติวันที่ .. ถึงวันที่ .. เป็นวันหยุดพิเศษ” ไม่ก็ “เฮ ครม. ให้หยุดเพิ่มวันที่ ..” และมีอีกหลายเฮ ที่ไม่เฮก็ด่วน! อ่านแล้วระทึกไม่น้อย
แม้กระทั่งในสังคมออนไลน์ก็ส่งข่าว “เฮ” ข่าว “ด่วน” แบบนี้กันให้ว่อน ดูเหมือนจะเป็นที่ถูกอกถูกใจกันมาก เข้าใจว่าคงจะได้มีเวลาไป “ชิม ช้อป ใช้” กันให้เต็มที่ ยิ่งช่วงปลายฝนต้นหนาวด้วย บรรยากาศมันเป็นใจอักโขอยู่
แน่นอน กลุ่มคนดีใจมากถึงมากที่สุดก็คงได้แก่คนทำงานประจำทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือลูกจ้าง เพราะได้หยุดงานโดยไม่เสียวันลา เพราะทางราชการประกาศให้เป็นวันหยุด เว้นแต่ข้อตกลงสภาพการจ้างจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ที่ว่าอย่างอื่นคือตกลงวันหยุดกันไว้ล่วงหน้าแล้ว ประกาศของทางราชการไม่มีผลอะไร กลุ่มนี้ก็คงหงอย ๆ หน่อยเพราะไม่ได้อานิสงฆ์อะไรกับเขา หรือข้าราชการที่มีภารกิจต้องกระทำในช่วงที่คนอื่นเขาได้หยุดก็ต้องไปปฏิบัติงานกันตามปกติ
อาการดีใจมาก ๆ แบบนี้แสดงให้เห็นว่าสังคมเราเป็น “สังคมของคนทำงานประจำ” หรือว่าง่าย ๆ คือข้าราชการกับลูกจ้างในกิจการหรือโรงงานต่าง ๆ เป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ “สังคมของผู้ประกอบการ” เพราะผู้ประกอบการต้องประกอบกิจการทุกวัน รายได้จึงจะเพิ่มพูนงอกเงย หยุดเยอะ ๆ คงไม่ดีแน่
ผู้เขียนเป็นคนคิดมาก เลยอยากจะชวนคิดว่า การที่โครงสร้างของสังคมยังเป็น “สังคมของคนทำงานประจำ” นี้มันสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจแห่งยุคสมัยหรือเปล่า เพราะเทคโนโลยีก้าวกระโดดเร็วมาก งานประจำหลากหลายอย่างกำลังถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี เช่น งานใช้แรงงานก็จะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ ยิ่งหลายประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย อัตราเร่งของการทดแทนแรงงานด้วยหุ่นยนต์และสมองกลก็จะเข้มข้นมากขึ้นเท่านั้น เพราะต้นทุนต่ำกว่าในระยะยาว แถมไม่ต้องมีปัญหาเรื่องวันหยุดวันลาให้ปวดหัว ไม่มีการนัดหยุดงานให้วุ่นวาย เอาแค่ไฟฟ้าไม่ตกบ่อย ๆ ก็โอแล้ว
การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสังคมจากสังคมของคนทำงานประจำไปเป็นสังคมของผู้ประกอบการนี้ต้องใช้เวลามาก ญี่ปุ่นเอย เกาหลีใต้เอย จีนเอย เขายังต้องใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าจะมีผู้ประกอบการยูนิคอร์นเกิดขึ้นทุก ๆ 8 นาทีอย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้ หากพิจารณาให้ลึกลงไปกว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคอันเป็นสิ่งที่เห็นได้ด้วยตา ผู้เขียนพบว่าในช่วงเวลาหลายทศวรรษนี้ ทั้งสามประเทศนี้ทุ่มเทอย่างหนักหน่วงไปที่การปลูกฝังให้สังคมยอมรับว่าทุกสัมมาอาชีพล้วนมีคุณค่า ยอมรับว่าแต่ละคนมีทักษะและความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน ยอมรับว่าคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และการยึดมั่นประโยชน์ส่วนรวมของสังคมเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิต หลักฐานที่ยืนยันได้แจ้งชัดคือกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาของทั้งสามประเทศนี้มี “แก่น” เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเขาตามหลักการข้างต้นทั้งสิ้น
ทั้งนี้ การศึกษากฎหมายเปรียบเทียบตามหลักวิชากฎหมายเปรียบเทียบ (Comparative Law) นั้น ไม่ได้ทำเพียงการหยิบยกตัวบทกฎหมายที่เป็นอยู่ของแต่ละประเทศมาวางเทียบกันดู แล้วบอกว่าประเทศนั้นมีอย่างนั้น ประเทศนี้มีอย่างนี้ ประเทศฉันไม่มี ฉันไปเรียนที่ประเทศนี้ต้องลอกเขามาเพราะครูเขาบอกว่าของเขาดี หากนักกฎหมายเปรียบเทียบต้องดูบริบทแวดล้อม (Context) ของกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายของแต่ละประเทศในแต่ละยุคแต่ละสมัยมาประกอบตามแนวทาง Historical Approach ด้วยเพราะที่มาที่ไปของแต่ละประเทศมีบริบทแตกต่างกัน
หรืออย่างเรื่องระบบเลือกตั้ง อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ เยอรมนี ซึ่งเป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน ทำไมใช้ระบบเลือกตั้งต่างกัน ทำไมไม่ลอกกันมาล่ะ … นั่นก็เพราะแต่ละประเทศมีบริบทที่แตกต่างกัน มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ประเทศไหนดีกว่าประเทศไหน ลอกประเทศนี้ดีกว่าลอกประเทศนั้น นั่นไม่ใช่การเปรียบเทียบกฎหมายตามหลักวิชาเลย เน้นเอามันส์เข้าว่ามากกว่า
เอ๊ะ! พูดถึงข่าวเฮ ๆ ด่วน ๆ เรื่องวันหยุดพิเศษกับโครงสร้างของสังคมอยู่ดี ๆ ไหงมาลงที่กฎหมายเปรียบเทียบได้
จบดื้อ ๆ อย่างนี้ก็แล้วกันนะครับ ก่อนที่จะไหลไปไหนต่อ.
เขียนโดย Pakorn Nilprapunt : https://lawdrafter.blogspot.com/2019/10/blog-post.html