เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (IGP) และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จัดประชุมรับฟังความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการจัดโครงสร้างองค์กรเพื่อสร้างความยืดหยุ่น คล่องตัว ของหน่วยงานนำร่อง ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมงานบริการภาครัฐ เพื่อพัฒนารูปแบบแนวทางการจัดโครงสร้างองค์กรที่สร้างความยืดหยุ่นคล่องตัวในการบริหารราชการ โดยผ่านกระบวนการ Design Thinking ที่ให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจปัญหาและการระดมสมองของผู้มีส่วนได้เสียเพื่อหาแนวทางและออกแบบกระบวนการ โดยดำเนินการร่วมกับหน่วยงานนำร่อง 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) โดยผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างต้นแบบ (Prototype) ของทั้ง 2 หน่วยงาน ในประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
1. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.): การจัดตั้ง Water Resources Intelligence Unit (IU) เพื่อเป็น Think Tank ให้กับคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และรัฐบาลในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- สทนช. ควรพิจารณาถึงบริบทและปัญหาสำคัญของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เพื่อให้การจัดตั้ง IU สามารถสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ได้อย่างตรงจุด และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ สทนช. ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยหน่วยงาน IU ควรมีบทบาทในการสนับสนุนการดำเนินงานของ สทนช. ในการบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานด้านน้ำต่าง ๆ ที่กระจายอยู่หลายกระทรวง การปรับบทบาทภารกิจของหน่วยงานด้านน้ำทั้งระบบเพื่อลดความซ้ำซ้อนเชิงภารกิจ การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำเพื่อการตัดสินใจในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทุกระดับ ทั้งนี้ ในการทดลองดำเนินการของหน่วยงาน IU ควรกำหนดตัวชี้วัดที่สามารถวัดผลสำเร็จได้ ทั้งในระดับผลผลิต (Output) และผลลัพธ์ (Outcome) เพื่อใช้ประเมินความสำเร็จของหน่วยงาน
2. กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ: ภารกิจด้านการบริหารจัดการปิโตรเลียมในระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract – PSC) เพื่อให้การบริหารและจัดหาเชื้อเพลิงธรรมชาติมีอย่างเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ
- ในการดำเนินงานด้าน PSC บทบาทของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะมีทั้งบทบาทในการเป็น Regulator และ Operator ที่ต้องไปร่วมดำเนินการ ซึ่งรูปแบบวิธีการทำงาน รวมทั้งวิธีคิดของบุคลากรจะต้องเปลี่ยนไป เพื่อให้การทำงานของภาครัฐร่วมกับเอกชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ขั้นตอนกระบวนการที่สั้น กระชับ มีประสิทธิภาพ รูปแบบการจ้างงานที่จูงใจผู้ที่มีความสามารถในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม
โดยหน่วยงานนำร่องทั้ง 2 หน่วยงานจะนำข้อเสนอแนะและข้อสังเกตของผู้ทรงคุณวุฒิมาปรับปรุงข้อเสนอของหน่วยงาน เพื่อให้ได้ Prototype ที่เหมาะสม และนำไปทดลองดำเนินการ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย บุคลากรภายในหน่วยงาน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2566 แล้วจะนำผลการทดลองดำเนินการมาสรุปนำเสนอผู้ทรงคุณวุฒิอีกครั้ง ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน เพื่อให้ได้แนวทางการจัดโครงสร้างองค์กรเพื่อสร้างความยืดหยุ่นคล่องตัวที่มีความเหมาะสม เพื่อที่ส่วนราชการจะได้นำไปสู่การปฏิบัติจริง และสำนักงาน ก.พ.ร. จะนำรูปแบบไปขยายผลกับส่วนราชการอื่นต่อไป