เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร.ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการขับเคลื่อน ตามกรอบการประเมินบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุน (Business Enabling Environment: BEE) ของธนาคารโลก (ด้านการแข่งขันทางการตลาด) กับภาคเอกชนเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับรายงาน BEE และความก้าวหน้าในการดำเนินการของภาครัฐ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้อง โดยมีรองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) เป็นประธานการประชุม และมีผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย) และสมาคมเครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงานไทย โดยมีรายละเอียดการประชุม สรุปได้ดังนี้
1. สำนักงาน ก.พ.ร. ขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากการลดขั้นตอน ระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ เช่น การลดขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจ และอันดับที่ดีขึ้นของประเทศไทยในรายงานความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ที่ในรายงาน Doing Business ประเทศไทยได้อันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันธนาคารโลกได้นำการประเมินบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุน (Business Enabling Environment: BEE) มาทดแทนรายงานความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) โดยเปลี่ยนแปลงจากรายงาน Doing Business คือเพิ่มการประเมินด้านแรงงาน และด้านการแข่งขันทางการตลาด และยกเลิกด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย ซึ่งด้านการแข่งขันทางการตลาด (Market competition) จะประเมินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
2. ในรายงานการประเมินบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุน (Business Enabling Environment: BEE) จะประเมินผ่านประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การนำเทคโนโลยีมาใช้ (Digital adoption) ซึ่งจะครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชน โดยจะต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการได้แก่ การมีระบบการให้บริการ Online การเข้าถึงเข้ามูล การเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล และการทำงานระหว่างหน่วยงาน เช่น ระบบ e-Service ภาครัฐ e-Payment 2) ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental sustainability) ตามกรอบการประเมิน BEE เรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมจะครอบคลุม 9 ด้านในการประเมิน ยกเว้นด้านแรงงาน (Labor) ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความสำคัญสูงมากในการทำธุรกิจ และการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เช่น Green license Green tax Green finance และ 3) ความเสมอภาคทางเพศ (Gender equality) ที่จะประเมินบทบาทของเพศหญิงในการขับเคลื่อนธุรกิจ ลดข้อจำกัดทางเพศ (Gender gap) และคุ้มครองเพศหญิงจากความรุนแรงและการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ดังนั้นควรศึกษาความเป็นไปได้ในการให้แต้มต่อกับเพศหญิง และการกำหนดอัตราส่วนของเพศหญิงเพื่อเพิ่มโอกาสและบทบาทของเพศหญิงในการทำงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้
3. ในด้านการแข่งขันทางการตลาดจะประเมินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเติบโตของ SME และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมของ SME เนื่องจากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีมูลค่าถึงร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP)
4. การประเมินบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุน (Business Enabling Environment: BEE) ของธนาคารโลก ธนาคารโลกได้ประกาศกรอบการประเมินบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุน (Business Enabling Environment: BEE) ของธนาคารโลกทดแทนรายงานความยาก-ง่าย
ในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) โดยมีการประเมิน 10 ด้านที่ครอบคลุมวงจรการประกอบธุรกิจ
5. ความแตกต่างระหว่างรายงาน BEE และ Doing Business รายงาน BEE มีด้านใหม่ในการประเมิน 2 ด้าน ได้แก่ด้านแรงงาน (Labor) และด้านการแข่งขันทางการตลาด (Market competition) และรายงาน BEE จะเพิ่มประเด็นสำคัญ (Critical themes) 3 เรื่องที่เป็นทิศทางการประกอบธุรกิจในอนาคต
ได้แก่ การนำเทคโนโลยีมาใช้ (Digital adoption) ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental sustainability) และความเสมอภาคทางเพศ (Gender equality)
6. ด้านการแข่งขันทางการตลาด (Market competition) รายละเอียดการประเมินด้านการแข่งขันทางการตลาดประกอบไปด้วย 3 ตัวชี้วัดย่อย ได้แก่ 1) กฎเกณฑ์ด้านคุณภาพของการแข่งขัน คุณภาพของกฎเกณฑ์ในการประมูลสำหรับสัญญาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 2) การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้บริการ การบังคับใช้กฎระเบียบเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และมีความโปร่งใส รวมถึงคุณสมบัติและการอำนวยความสะดวกในระบบ e-Procurement และ 3) ประสิทธิภาพขั้นตอน ระยะเวลา ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมถึงประสิทธิภาพของการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันทางการตลาด
7. ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนด้านการแข่งขันทางการตลาด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการพัฒนาที่น่าสนใจหลายเรื่อง ได้แก่ 1) แผนการยกเลิกการจำหน่ายเอกสารประกวดราคา ผู้สนใจทั่วไปสามารถดาวน์โหลดเอกสารที่หน้าเว็บไซต์ ww.gprocurement.go.th และไม่ต้องชำระเงินค่าเอกสาร ทำให้ไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ดาวน์โหลด/ผู้ซื้อเอกสารได้ ลดความเสี่ยงในการรั่วไหลของข้อมูลรายชื่อผู้รับ/ซื้อเอกสาร และเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมแข่งขันการยื่นข้อเสนอมากรายขึ้น 2) แผนการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลการเสนอราคา e – bidding เพื่อป้องกันการรั่วไหลข้อมูล และการสมยอมราคา เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และ 3) แผนการปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลการเสนอราคา เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอราคา กรมบัญชีกลางจะเปิดเผยข้อมูลการเสนอราคาของทุกโครงการผ่านเว็บไซต์ www.gprocurement.go.th ซึ่งประกอบด้วยรายชื่อผู้ยื่นข้อเสนอและราคาที่เสนอของทุกราย
8. การแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนได้ สรุปได้ดังนี้
- การส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ในประเด็นดังกล่าวภาคเอกชนมีความก้าวหน้าในการดำเนินการ เนื่องจากต้องปรับตัวให้เข้ากับทิศทางของตลาดที่เน้นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี ต้นทุนการดำเนินการที่เกี่ยวข้องสิ่งแวดล้อม เช่น การรับรองสลากสีเขียว (Green label) ค่าธรรมเนียมคาร์บอนเครดิต หรือการส่งผลการตรวจสินค้าไปยังแลปกลาง (Central lab) มีราคาที่สูง ทำให้ SME เข้าถึงการดำเนินการดังกล่าวได้ยาก จึงอยากให้ภาครัฐมีการชดเชยเพื่อให้ SME สามารถเข้าถึงการสร้างความสามารถในการแข่งขันในประเด็นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้ นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีเกณฑ์เพื่อส่งเสริมพัสดุสีเขียวอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และมีมาตรฐาน
- การแข่งขันอย่างเป็นธรรม ในประเด็นดังกล่าวมี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ควรทบทวนสัดส่วนการซื้อยาในบัญชียาหลักแห่งชาติของโรงพยาบาลรัฐ ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อให้บริษัทยาสามารถเข้าถึงการแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม โดยปัจจุบันให้ส่วนราชการใช้เงินงบประมาณจัดซื้อยาถึงร้อยละ 60 นอกจากนี้ยังให้สิทธิพิเศษแก่องค์การเภสัชกรรม สภากาชาดไทยและโรงงานเภสัชกรรมทหาร 2) ควรกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของหลักเกณฑ์การประเมินค่าประสิทธิภาพต่อราคา (Price Performance) ให้เป็นมาตรฐาน และ 3) ควรกำหนดราคากลางในยาทุกประเภทและให้ราคากลางเป็นราคาที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพื่อให้บริษัทยาสามารถเข้าถึงการแข่งขันได้
- ระบบ e-Service ภาครัฐ ในประเด็นดังกล่าว ภาคเอกชนให้ข้อมูลป้อนกลับว่า e-Submission ของ อย. เป็นระบบที่ดี แต่พบว่ามีคอขวดในการเข้ารับบริการจากการเข้าถึงระบบการยืนยันตัวตน และระบบลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เป็นการส่งเสริมระบบ e-Service ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นภาครัฐควรสนับสนุนการเข้าถึงระบบการยืนยันตัวตนและระบบลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะสอดคล้องกับปัญหาที่ธนาคารโลกพบในระบบ e-Tax invoice ในด้านภาษีที่ SME ไม่มีต้นทุนเพียงพอในการเข้าถึงระบบดังกล่าว จึงต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ
- หนังสือค้ำประกัน ภาคเอกชนให้ความเห็นว่าภาครัฐควรเข้ามาแก้ปัญหาการใช้หนังสือค้ำประกันที่ภาคเอกชนต้องเสียค่าปรับให้แก่ธนาคารที่ออกหนังสือค้ำประกัน เนื่องจากหลายครั้งที่ภาคเอกชนไม่สามารถเรียกคืนหนังสือสัญญาและหนังสือต้นฉบับการค้ำประกันจากภาครัฐที่ไปทำสัญญาได้ จึงทำให้ภาคเอกชนไม่มีเอกสารดังกล่าวไปคืนแก่ธนาคารจนทำให้ต้องเสียค่าปรับ ซึ่งประเด็นดังกล่าวที่ประชุมมีแนวทางที่จะนำ e-Document มาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มีการกล่าวถึงความเสมอภาคทางเพศที่ภาคเอกชนยืนยันว่าประเทศไทยดำเนินการในประเด็นดังกล่าวได้ดี อย่างไรก็ดีควรมีการสนับสนุนสวัสดิการต่าง ๆ เช่น บริการรับฝากบุตรระหว่างทำงาน เพื่อให้ลูกจ้างสามารถทำงานได้อย่างไร้กังวล ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุม สำนักงาน ก.พ.ร. จะรวบรวมและศึกษาในรายละเอียดเพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการปรังปรุงประสิทธิภาพการให้บริการด้านการแข่งขันทางการตลาด และเสนอฝ่ายนโยบาย เพื่อพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. จะสร้างการรับรู้ในการพัฒนาด้านการแข่งขันทางการตลาดอย่างต่อเนื่องให้กับผู้แทนภาคเอกชนที่เข้าร่วมการประชุมด้วย