เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 เวลา 13.30 น. นายธนิศร์ วงศ์ปิยะสถิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อส่งเสริมการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับผู้บริหารของ 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) โดยมีนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ นายณัฐวัชร์ วรนพกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และนายจินตพันธุ์ ทังสุบุตร ผู้อำนวยการกองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมประชุมหารือ พร้อมด้วย นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และผู้แทน 3 สมาคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ณ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และระบบออนไลน์ผ่าน Webex แบบ Cloud Meeting พร้อมทั้งมีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Fanpage :ท้องถิ่นไทย
นายธนิศร์ วงศ์ปิยะสถิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้กล่าวเปิดการประชุมว่าการดำเนินการในวันนี้จะเป็นเตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 สำหรับหน่วยงานของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคทั้ง 76 จังหวัด และองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ทุกแห่ง และเมืองพัทยา จำนวนกว่า 7,849 แห่ง โดยได้รับความร่วมมือจาก 4 หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่สนับสนุนหน่วยงานในการดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งจะช่วยสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับ สาระสำคัญของกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย แนวทางการเตรียมความพร้อมการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั่วประเทศ
ภายหลังจากการกล่าวเปิดการประชุม หน่วยงานหลักทั้ง 4 หน่วยงาน ได้ร่วมกันชี้แจงแนวทางการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งมีสาระสำคัญประกอบด้วย
1. รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวถึงภาพรวมของพระราชบัญญัติฉบับนี้ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติราชการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และโปร่งใส มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ พร้อมทั้งได้กล่าวถึงสาระสำคัญของกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย บทบาทของ 4 หน่วยงานหลัก และการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยสำนักงาน ก.พ.ร. พร้อมที่จะสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดไว้ในกฎหมายได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม
2. ผู้อำนวยการกองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้กล่าวถึงที่มาของพระราชบัญญัติเพื่อให้การปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนของภาครัฐเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว โดยมีแนวปฏิบัติที่สำคัญในการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการปฏิบัติราชการและการให้บริการ อาทิ การติดต่อระหว่างหน่วยงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือประชาชนทางอิเล็กทรอนิกส์ สามารถใช้เป็นหลักฐานตามกฎหมายได้ การสั่งการและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีกฎหมายกำหนดให้เป็นหนังสือ สามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เอกสารหลักฐานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถใช้เป็นหลักฐานเบิกจ่ายได้ โดยการตรากฎหมายฉบับนี้ จะเป็นการขจัดอุปสรรคทางข้อกฎหมายของการดำเนินงานภาครัฐด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว ความประหยัด และความโปร่งใสตรวจสอบได้ในการปฏิบัติราชการ โดยหัวใจของการดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ จะมุ่งเน้นประชาชนสะดวกให้เกิดความสะดวกเป็นหลัก
3. รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) มีบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยสามารถดำเนินการได้ตามแนวปฏิบัติที่กำหนดในพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยได้มีการจัดทำมาตรฐานว่าด้วยแนวปฏิบัติกระบวนการทางดิจิทัลภาครัฐ
ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวปฏิบัติในการพัฒนาระบบการให้บริการและปฏิบัติราชการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติฯ เช่น แนวทางการยื่นขออนุญาตและตอบกลับทางอิเล็กทรอนิกส์ แนวทางการแสดงและตรวจสอบใบอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ การกำหนดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชน เป็นต้น
4. ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) มีหน้าที่สำคัญในการกำหนดมาตรฐานเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปฏิบัติราชการและการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสนับสนุนให้เกิดมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องในหลายส่วน อาทิ มาตรฐานด้านการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล การประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ ด้านการจัดทำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ด้านการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ และมาตรฐานด้านอื่น ๆ
ภายหลังจากการชี้แจงของ 4 หน่วยงาน ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทน 3 สมาคม ซึ่งได้มีการสอบถามแนวทางการดำเนินการ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมการดำเนินการไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชน นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมประชุมผ่าน Facebook live ได้มีคำถามที่เกี่ยวกับการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 โดยทั้ง 4 หน่วยงาน ได้ร่วมกันตอบคำถามในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจที่มากขึ้น เช่น การดำเนินการขั้นต่ำตามพระราชบัญญัติฯ การเลือกใช้มาตรฐานการยืนยันตัวตนให้เหมาะสมกับงานบริการ การสมัครและการตั้งชื่อไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 เป็นต้น ซึ่งคำถามต่าง ๆ จะมีการรวบรวมและจัดทำเป็น FAQ และเผยแพร่ในเว็บไซต์สำนักงาน ก.พ.ร. หัวข้อ “ผลการพัฒนาระบบราชการ” หัวข้อย่อย “พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565”
สำหรับการดำเนินการในขั้นต่อไป ผู้แทนทั้ง 3 สมาคม จะมีการบูรณาการในการสร้างการรับรู้ให้แก่เทศบาล อบจ. และ อบต. ทั่วประเทศ โดยจะขอความร่วมมือจาก 4 หน่วยงานหลัก เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน ซึ่งในครั้งแรกจะมีการจัดขึ้นในวันที่ 9 ธันวาคม 2565 เพื่อให้เกิดการรับรู้และสร้างความเข้าใจในวงกว้างกับเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลต่อไป