เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน 2565 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 6/2565 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ประธานอนุกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาและรับทราบเรื่องตามระเบียบวาระที่นำเสนอ ดังนี้
1. การดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ ได้นำเสนอสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฯ รวมทั้งการสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานของรัฐภายหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ ที่ดำเนินการผ่านการจัดงานจัดนิทรรศการและงานแถลงข่าวเพื่อประชาสัมพันธ์การประกาศใช้พระราชบัญญัติฯ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 และการประชุมชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจแก่หน่วยงานของรัฐ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งเสนอ อ.ก.พ.ร.ฯ เกี่ยวกับประเด็นที่ควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีควบคู่ไปกับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ บทบาทและแผนการดำเนินงานของ 4 หน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนและให้คำแนะนำหน่วยงานต่าง ๆ การส่งเสริมให้หน่วยงานพัฒนางานบริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่า
1.1 การใช้อีเมลเป็นช่องทางการติดต่อของหน่วยงานของรัฐมีความเหมาะสมกับหน่วยงานที่มีความพร้อมทางเทคโนโลยีในระดับเริ่มต้น และต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลให้มีความปลอดภัย กระบวนการภายหลังรับเรื่องจากอีเมลยังคงเป็นการดำเนินการลักษณะการนำเข้าข้อมูลและเอกสารเข้าสู่ระบบโดยบุคคล ดังนั้นควรมีการจัดทำแนวทางการดำเนินงานสำหรับการใช้อีเมล
1.2 การพัฒนางานบริการสู่ระบบดิจิทัลควรมุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการที่เป็นอัตโนมัติมากที่สุด ตั้งแต่การยืนยันตัวตนด้วยระดับสูงที่สุดซึ่งจะครอบคลุมการทำธุรกรรมในทุกด้าน การยื่นคำขอผ่านระบบที่มีการรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถนำไปประมวลผลต่อได้ทันที โดยไม่ต้องนำเข้าข้อมูลกระดาษ หรือ ไฟล์ pdf มาจัดเก็บในระบบ รวมถึงสามารถเรียกดูและเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานต้นทางผู้ออกใบอนุญาตได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องร้องขอจากประชาชน ตลอดจนการออกเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่มีลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์และมีช่องทางการตรวจสอบเอกสารที่สะดวก เข้าถึงง่าย
1.3 ควรมีการจัดทำต้นแบบหรือตัวอย่างของการดำเนินงานจากหน่วยงานของรัฐที่มีความพร้อมในระดับต่าง ๆ สำหรับใช้เป็นตัวอย่างการดำเนินงาน ซึ่งจะเป็นแนวทางที่เป็นรูปธรรม สามารถให้หน่วยงานอื่น ๆ ที่มีความพร้อมในระดับเดียวกันนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของหน่วยงานได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การจัดทำต้นแบบดังกล่าวควรเชิญผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางธุรกิจสาขาต่าง ๆ มาร่วมออกแบบให้เกิดความครบถ้วนในทุกมิติ ตลอดจนควรจัดทำเป็นคู่มือหรือแนวทางวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวทางที่ชัดเจน จำแนกตามประเภทงาน ระดับความพร้อมของหน่วยงาน และสามารถนำไปปฏิบัติได้โดยง่าย
2. การพัฒนาเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) ซึ่งเป็นการขยายผลต่อยอดจากการพัฒนา Digital Transcript ในระดับอุดมศึกษา มาสู่การพัฒนา Digital ป.พ. ในระดับมัธยมศึกษา โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงาน ก.พ.ร. สพร. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งจะมีการนำร่องในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา สังกัด สพฐ. จำนวน 19 แห่ง สังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 9 แห่ง และโรงเรียนสาธิต สังกัดกระทรวง อว. จำนวน 3 แห่ง โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และเริ่มพัฒนาเอกสารทางการศึกษา 2 ประเภท คือ ใบระเบียนแสดงผลการเรียน หรือ transcript (ปพ.1) และ ใบประกาศนียบัตร (ปพ.2) ซึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาให้เกิด Digital ป.พ. พบปัญหาอุปสรรคที่สำคัญทั้งในด้านกฎหมายและด้านกระบวนการ ฝ่ายเลขานุการฯ จึงได้เสนอแนวทางเพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินการของโรงเรียน 31 แห่ง โดยยังไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบในระยะแรก ซึ่งที่ประชุมได้มีความเห็นและข้อเสนอแนะว่า
2.1 การจัดทำเอกสารทางการศึกษาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การส่งต่อข้อมูลของนักเรียนจากโรงเรียนไปยังหน่วยงานหรือองค์การต่าง ๆ เช่น การศึกษาต่อ การกู้ยืม เป็นต้น ดังนั้นอาจต้องประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้เพื่อให้เกิดการยอมรับเอกสาร Digital ป.พ. เนื่องจากหากโรงเรียนสามารถดำเนินการเป็น Digital ป.พ. ได้แล้ว แต่หน่วยงานปลายทางที่ประสงค์ใช้เอกสารหลักฐาน ป.พ. ยังไม่มีระบบรองรับ ซึ่งจะทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการเป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบได้
2.2 การแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบเพื่อรองรับการดำเนินการของโรงเรียนนำร่อง 31 โรงเรียน อาจนำเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 มาใช้ให้ครอบคลุมถึงกฎระเบียบที่เป็นระดับคำสั่งกระทรวงได้ ดังนั้นอาจมีการหารือรายละเอียดแนวทางการดำเนินงานด้านกฎหมายและเทคนิคระหว่างสำนักงาน ก.พ.ร. สพฐ. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป
3. รับทราบผลการประชุมสัมมนา “คุณวุฒิวิชาชีพ คุณวุฒิของคนทำมาหากิน” ที่จัดขึ้นโดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 ซึ่งภายในงานมีการเปิดตัวแพลตฟอร์มอัจฉริยะเพื่อการบริหารจัดการข้อมูล ด้านกําลังคนและการเรียนรู้ตลอดชีวิต (E-Workforce Ecosystem Platform หรือ EWE) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่เชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละหน่วยงานให้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ด้านกำลังแรงงานอยู่บนโครงสร้างเดียวกัน ประกอบด้วยระบบต่าง ๆ เช่น E-Portfolio / Education and Career Guidance Check / E-Coupon สำหรับสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการ Upskill/Reskill / Digital Credit Bank หรือ Competency Credit Bank และระบบ Job Matching และได้มีการลงนาม MOU ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน กว่า 52 หน่วยงาน เพื่อเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศไทยภายใต้แพลตฟอร์ม EWE ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานของสำนักงาน ก.พ.ร. ในการพัฒนางานบริการ Agenda เรื่อง “ระบบช่วยเหลือผู้ว่างงานให้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน” โดยมีกรมการจัดหางานเป็นเจ้าภาพหลัก และการเชื่อมโยงข้อมูลด้านแรงงานกับ Biz Portal และ Citizen Portal ในประเด็นด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานและการหางาน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องทางและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการและแรงงานได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น