สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดสัมมนา เรื่อง “ทิศทางการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการยกระดับประสิทธิภาพภาครัฐ” ในวันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน 2565 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยมีเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ) เป็นประธาน นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. นางสาววิริยา เนตรน้อย ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ โดยมีผู้บริหารจากภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการในหลาย ๆ ด้าน อาทิ การส่งเสริมและยกระดับการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ การปรับปรุงบรรยากาศในการประกอบธุรกิจและการลงทุน การถ่ายโอนงานให้ภาคเอกชน และการพัฒนาบุคลากรภาครัฐผ่านโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) จำนวนประมาณ 50 คน จาก 29 หน่วยงาน ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการพัฒนาระบบราชการที่สำคัญที่เกิดจากความร่วมมือของภาคเอกชน แลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการยกระดับประสิทธิภาพภาครัฐรวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างกัน
เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวต้อนรับและขอบคุณที่ภาคเอกชนได้ให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนพัฒนาระบบราชการที่ผ่านมา พร้อมทั้งชี้แจงทิศทางการพัฒนาระบบราชการในอนาคตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน ตามร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งมีจุดเน้นในการพัฒนาระบบราชการ 3 เรื่อง คือ (1) ยกระดับบริการภาครัฐ ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง (2) ลดบทบาทภาครัฐ เปิดการมีส่วนร่วมกับภาคส่วนอื่น และ (3) เร่งปรับภาครัฐสู่ดิจิทัล (Digital Transformation)
ผู้แทนจากหน่วยงานภาคเอกชนได้แสดงความคิดเห็นและข้อแนะนำต่าง ๆ ในการยกระดับประสิทธิภาพภาครัฐและการสร้างความร่วมมือระหว่างกัน โดยสรุปได้ดังนี้
1. ความคิดเห็นต่อการยกระดับประสิทธิภาพภาครัฐ
1.1 การพิจารณาอนุมัติ อนุญาต เช่น ควรกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จ (timeline) ในการพิจารณาอนุญาตให้ชัดเจนและกำกับติดตามให้การดำเนินการเป็นไปตามคู่มือสำหรับประชาชนที่กำหนด และกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ชัดเจนเพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ และควรให้ความสำคัญกับ Cost of delay และ Licensing approval ที่จะส่งผลต่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน และพิจารณาปรับรูปแบบการทำงานภาครัฐโดยให้ภาคเอกชนดำเนินการแทน เช่น การรับรองต่าง ๆ ให้ภาคเอกชนดำเนินการและภาครัฐเป็นผู้กำกับดูแล เพื่อให้การพิจารณารวดเร็วตอบสนองได้ทันเวลา
1.2 การปรับ Mindset ของภาครัฐ เช่น การปรับมุมมองจากผู้มีอำนาจมาเป็นผู้ร่วมงาน (partner) หรือการมองภาคเอกชนหรือภาคส่วนอื่นเป็นพันธมิตร ที่ร่วมกันทำงาน ร่วมรับความเสี่ยง ร่วมรับผลตอบแทน และร่วมกันปรับ cost of delay เพื่อไปสู่เป้าหมายที่จะทำให้เกิดความสะดวกในการประกอบธุรกิจ โปร่งใส ตรวจสอบได้
1.3 การพัฒนาบริการดิจิทัล เช่น ควรเร่งผลักดันการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐ การจัดให้มี infrastructure และเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่พร้อมรองรับการบริการ e-Service การให้ความสำคัญกับความมีเสถียรภาพและความปลอดภัยของข้อมูล
1.4 การสื่อสารประชาสัมพันธ์ เช่น การสื่อสารผลงานต่าง ๆ ของภาครัฐให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับรู้อย่างสม่ำเสมอ การสื่อสารจากภาครัฐควรมีความชัดเจนและสามารถบันทึกและสืบค้นในภายหลังได้ การประชาสัมพันธ์ Citizen Portal และ Biz Portal ให้ผู้ประกอบการรับรู้และเข้าใช้งาน การมีช่องทางให้ผู้ประกอบการ feedback เรื่องต่าง ๆ
1.5 โครงการ นปร. ควรมีการสื่อสารโครงการไปยังกลุ่มนิสิตและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และอาจร่วมกับภาคเอกชนในการประชาสัมพันธ์โครงการให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ควรนำหลักสูตรของโครงการไปประยุกต์ใช้กับบุคลากรภาครัฐ เช่น การเปิดโอกาสได้เข้าไปร่วมทำงานในภาคเอกชนเพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงาน
2. ความคิดเห็นต่อการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ควรมีแนวทางเกี่ยวกับ public private corporation ที่ชัดเจน และอาจให้ภาคเอกชนในต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีซึ่งนำมาปรับใช้กับภาครัฐได้ ซึ่งภาคเอกชนสามารถสามารถสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวได้