เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมหารือแนวทาง
การขยายผลรางวัลเลิศรัฐ ให้มีแนวทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้นและสามารถนำไปขับเคลื่อนการขยายผลให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้หารือแนวทางการขยายผล จำนวน 2 ผลงานที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ในปี 2564 ได้แก่ 1) การบริหารจัดการน้ำต่อสู้ปัญหาวิกฤตภัยแล้ง องค์การบริหารส่วนตำบลทับน้ำ ซึ่งได้รางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดีเด่น 2) การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเลฝั่งอันดามัน โรงพยาบาลตะกั่วป่า ซึ่งได้รางวัล สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการ ในระดับดีเด่น โดยมีหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ได้แก่ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศน้ำ (องค์การมหาชน) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานเขตสุขภาพที่ 11 และโรงพยาบาลฉลอง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้ร่วมกันให้ความคิดเห็นในมุมมองต่าง ๆ ให้เกิดแนวทางการขยายผลให้สำเร็จขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นประธานการประชุม
สรุปเนื้อหาการประชุมได้ดังนี้
องค์การบริหารส่วนตำบลทับน้ำ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังจากได้รับรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดีเด่น ในปี 2564 ได้พัฒนาต่อยอดอีก 5 โครงการ ได้แก่
1) การสร้างอาหารรับประทานในครัวเรือน
2) โครงการนาข้าวชุมชน ลดปัญหาการเหลื่อมล้ำ
3) โครงการสร้างเมืองสีเขียว
4) โครงการปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืด
5) โครงการสร้างเศรษฐกิจชุมชน จัดทำตลาดออนไลน์ “ทับน้ำเดอะมาร์เก็ต” และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร จัดทำแผนที่ท่องเที่ยว
ความสำเร็จในการต่อยอดขยายผลรางวัลฯ ในผลงานการบริหารจัดการน้ำต่อสู้ปัญหาวิกฤตภัยแล้ง องค์การบริหารส่วนตำบลทับน้ำ นอกจากการจัดให้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งแล้ว ยังได้ดำเนินการให้ครบวงจร โดยได้น้อมนำศาสตร์พระราชาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้สำหรับประชาชนในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารสำหรับครัวเรือน ประชาชนสามารถผลิตอาหารปลอดภัยรับประทานในครัวเรือนได้ เป็นการลดรายจ่าย และมีทางเลือกสำหรับเพิ่มรายได้ เสริมสร้างเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เกิดจากการบูรณาการความร่วมมือและการมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิเช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ เป็นต้น ภาคเอกชนในพื้นที่ ภาคการศึกษา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ เป็นต้น ในการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ รวมถึงประชาชนในพื้นที่ จึงทำให้การพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง
การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเลฝั่งอันดามัน โดย โรงพยาบาลตะกั่วป่า
นโยบายเขตสาธารณสุขเขตสุขภาพ เขตพื้นที่ 11 ด้านสาธารณสุขทางทะเล และแผนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคใต้เขตอันดามัน ได้นำต้นแบบผลงานพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเลฝั่งอันดามัน ของโรงพยาบาลตะกั่วป่า ที่ได้รับรางวัลฯ ไปต่อยอดขยายผล จนกลายเป็นต้นแบบความสำเร็จด้านสาธารณสุขเขตพื้นที่ทางทะเล จากระดับจังหวัด ไปสู่ระดับนานาชาติ และมีหน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้ามาร่วมมือ เช่น สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กองสาธารณสุขฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์กรอิสระ หน่วยงานการศึกษา ภาคเอกชน เป็นต้น โดยได้ดำเนินการ ดังนี้
1) ส่งเสริมและป้องกันในการพัฒนางานสาธารณสุขทางทะเล Safety beach & Safety Trip พัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพทางทะเลด้านเวชศาสตร์ทางทะเลและระบบด้านสุขาภิบาลอาหารและน้ำบนเกาะ
2) พัฒนาระบบการส่งต่อฉุกเฉิน เกิด ระบบ Safety Transfer ที่เป็นศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการทางการแพทย์ มีหน่วยแพทย์ฉุกเฉินบนอุทยานแห่งชาติทางทะเลและการพัฒนาอุปกรณ์ตอบสนองภาวะฉุกเฉิน
3) การพัฒนาการบริการและองค์ความรู้ในระดับมาตรฐาน โดยการพัฒนาองค์ความรู้ แก่ทีมกู้ชีพ กู้ภัยทางน้ำทางการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และ ประชาชนในพื้นที่ทางทะเล และพัฒนาศักยภาพ รพ.สต. และ รพ. ในพื้นที่ใกล้ทะเล
4) การขับเคลื่อนงานสาธารณสุขด้วยระบบข้อมูลและนวัตกรรมสาธารณสุขทางทะเล Maritime Health Profile พัฒนานวัตกรรมและมีเวทีแลกเปลี่ยนนวัตกรรมด้านสาธารณสุขทางทะเล
5) การสร้างความร่วมมือระบบงานสาธารณสุขระดับจังหวัด ระดับเขต โดยมีการประสานงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ บูรณาการงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องประสานงานกับท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่เพื่อขับเคลื่อน
ความสำเร็จในการต่อยอดขยายผลรางวัลฯ สามารถช่วยให้ประชาชนคนไทย ต่างชาติ ต่างด้าว นักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศ ทุกกลุ่มสิทธิการรักษาพยาบาล ได้รับบริการทางการแพทย์และการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ น้ำ บกที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ลดภาวะแทรกซ้อนและอัตราการเสียชีวิตจากภาวะฉุกเฉิน เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในระบบการบริการหากเกิดการบาดเจ็บ/เจ็บป่วยฉุกเฉิน นำมาสู่การเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดพังงาและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภาพรวมระดับประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป