เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 อนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น (นายถาวร พรหมมีชัย และนางประนอม คำเที่ยง) และเจ้าหน้าที่ กภท. ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานการขับเคลื่อนจังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์สูง ในประเด็น “การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)” โดยประชุมร่วมกับรองผู้ว่าราชการจังหวัด (นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามความก้าวหน้า ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการ สามารถสรุปผลได้ ดังนี้
1. ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ จังหวัดเชียงใหม่เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีสถิติการเกิด PM2.5 สูง อันเนื่องมาจากลักษณะของภูมิประเทศ การประกอบอาชีพของประชนชน การสะสมฝุ่นละอองจากการขนส่งภาคประชาชน โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงหมอกควันข้ามชายแดน การดำเนินการต้องอาศัยการบูรณาการทุกภาคส่วน เช่น หน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมถึงความเข้มแข็งของภาคประชาชน และความร่วมมือของสถานกงสุลในพื้นที่ ผลการดำเนินการพบว่า จังหวัดสามารถลดจำนวนพื้นที่เผาไหม้ (Burn Scar Area) เหลือเพียงจำนวน 405,665 ไร่ และจำนวนจุดความร้อนสะสม (Hotspot) เหลือเพียง 2,572 จุด ลดลงจากค่าเป้าหมายร้อยละ 48.43 และร้อยละ 84.75 ตามลำดับ
2. จังหวัดมีการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการทำงาน และการพัฒนาไปสู่ราชการระบบเปิดไปใช้ในการขับเคลื่อน ดังนี้
• การประยุกต์ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมในการบริหารจัดการไฟป่า
• แอปพลิเคชันสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล “ไฟดี” (FireD)
• การใช้เทคโนโลยีค้นหา “Hot Spot” แบบ Real Time ด้วยอากาศยานไร้คนขับ (UAV) หรือ “โดรน”
• จัดตั้งศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่
• ระบบฐานข้อมูลและเว็บไซต์รายงานสถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 และข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล
3. ปัจจัยความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาฯ ในพื้นที่ มีอยู่ 4 ประเด็น คือ
• การสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วม ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฯ อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(พัฒนาแอปพลิเคชัน “ไฟดี”) สถานกงสุลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ (สนับสนุนอุปกรณ์และเบี้ยประกันภัยสำหรับเจ้าหน้าที่จิตอาสาดับไฟป่า) กองทัพภาคที่ 3 (ขยายผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาฯ ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ “ลมไม่แบ่งจังหวัด”) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน)
• ความเข้มแข็งของผู้นำ : ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กำหนดแนวทางและเป้าหมายของการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่อย่างชัดเจน ให้การสนับสนุนการประสานงานระดับนโยบาย และการติดตามผลอย่างจริงจัง รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น การตรวจเช็กควันดำของรถแดง (รถสาธารณะภายในจังหวัด) จำนวน 1,300 คัน หากไม่ผ่านเกณฑ์จะต้องทำการแก้ไขจนกว่าจะผ่านเกณฑ์ถึงจะให้วิ่งบริการได้ เป็นต้น
• การนำระบบดิจิทัลมาใช้แอปพลิเคชัน “ไฟดี” (FireD) ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง (Fire Management) ในพื้นที่จังหวัดตามแนวคิด “ไฟจำเป็น” หากใช้ให้ถูกที่ถูกเวลา แทนแนวคิด Zero Burning โดยนำข้อมูลจากแอปพลิเคชันมาช่วยตัดสินใจจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล และศูนย์บัญชาการไฟป่าหมอกควันระดับอำเภอมีอำนาจตัดสินใจที่จะ “อนุมัติ/ไม่อนุมัติ” ให้ประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการจัดการเชื้อเพลิง (การเผาวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร/การจัดกำจัดวัชพืชในพื้นที่เพาะปลูก ฯลฯ) เพื่อหาความเหมาะสมในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในแต่ละวัน โดยพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพอากาศ ปริมาณฝน หมอกควันข้ามแดน เป็นต้น
•“Real Big Data” ทำให้จังหวัดมีข้อมูลในสนับสนุนการตัดสินใจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลให้แก่ประชาชนในพื้นที่ทำให้เกิดการตระหนักในการป้องกันผลกระทบและให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ยังช่วยแก้ไขปัญหา PM2.5 ที่เกิดจากการการเกษตรโดยจากการดำเนินงานพบว่า การใช้ แอปพลิเคชัน “ไฟดี” (FireD) ช่วยแก้ไขปัญหาได้ร้อยละ 30 ในส่วนร้อยละ 70 แก้ไขด้วยการเปิดศูนย์รับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อนำวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตรไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งนำร่องใน อ. ดอยหล่อ
“ข้อมูลจากการเข้าพื้นที่จะนำเสนอ อ.ก.พ.ร. ภูมิภาคฯ ในเดือนกันยายน 2565” พิจารณา เพื่อกำหนดประเด็นการดำเนินการต่อไป