เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี (นายชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม) ประธานคณะทำงาน รองประธานคณะทำงาน (นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์) รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รศ.ดร.ปัทมาวดี โภชนุกูล) เจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ UNDP แห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) และ บริษัท Defire ได้ลงพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี เพื่อติดตามการขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาฝุ่น Pm 2.5 ณ จ.สิงห์บุรี โดยมีการดำเนินการ ดังนี้
1. ประชุมคณะทำงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาภาครัฐระบบเปิด ในระดับพื้นที่ จังหวัดสิงห์บุรี ครั้งที่ 1/2565 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมนายทองแสงใหญ่ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี และการประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการพิจารณาและรับทราบวาระต่าง ๆ ดังนี้
1.1 พิจารณาเห็นชอบการขับเคลื่อนการสร้างระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (Open Government and Meaningful Participation Ecosystem) ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่น PM 2.5 โดยในภาพรวม พบว่า จังหวัดสิงห์บุรีสามารถดำเนินการตามแผน OG & MP ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการติดตั้ง Low-cost Sensors จำนวน 10 จุด ในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ระหว่าง GISTDA สกสว. สพร. UNDP และหน่วยงานในจังหวัดสิงห์บุรีเพื่อดำเนินการตามแผนฯ อย่างครบถ้วน ทุกมิติ ส่งผลทำให้ ปี พ.ศ.2565 จำนวนวันที่ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน มีจำนวนเพียง 10 วัน การลักลอบเผาตอซังข้าว เศษวัสดุทางการเกษตร ลดลงจากปี พ.ศ. 2564 ร้อยละ 29 รวมทั้งปริมาณอ้อยสดเข้าหีบมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลง
1.2 รับทราบการดำเนินงาน รายงานผลการควบคุมฝุ่น PM 2.5 เช่น ข้อมูลค่าเฉลี่ยรายเดือน จำนวนวันที่ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานมากที่สุดในรอบปี ข้อมูลจุดความร้อนสะสม (Hotspot) อัตราการเจ็บป่วยของประชาชนที่มาจากฝุ่น PM 2.5 และหมอกควัน เป็นต้น
2. ประชุมหารือเกี่ยวกับแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมนายทองแสงใหญ่ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี และการประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
2.1 สาเหตุของปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ได้แก่ ป้องกันโรคแมลงและกำจัดวัชพืช ลดค่าใช้จ่ายในการปราบวัชพืชและการใช้สารเคมีฆ่าแมลง ลดค่าใช้จ่ายในการตีดิน การหมักหมมของฟางข้าวทำให้ให้เกิดแก๊สและเชื้อราในพื้นดิน ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของข้าว รวมทั้งเร่งปลูกให้ทันห้วงเวลา
2.2 การระบุพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซากในพื้นที่เกษตรกรรม โดยการใช้ข้อมูลจุดความร้อน หรือ Hotspot จากดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
2.3 การนำงานวิจัยในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ไปใช้ประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมตัวอย่างนวัตกรรม เพื่อลดการเผาในพื้นที่นาข้าว เช่น เครื่องอัดเม็ดชีวมวล จุลินทรีย์หมักฟางข้าวเพื่อทำปุ๋ยหมัก เครื่องอัดเมล็ดปุ๋ยจากฟางข้าว ฯล
2.4 แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม เช่น ไถกลบตอซังฟางข้าว ใบอ้อย หรือ เศษซากพืช นำเศษวัสดุการเกษตร ที่เหลือทิ้งมาทำ ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก นำเศษวัสดุการเกษตรมาใช้เลี้ยงสัตว์ นำไปผลิตเป็นพลังงานทดแทน เป็นต้น
ในช่วงบ่าย คณะฯ ได้ร่วมติดตามการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ (Low – cost sensor) ณ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยชันและองค์การบริหารส่วนตำบลอินทร์บุรี และพูดคุยกับเกษตรกร รวมทั้งลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงเรื่องการเผาไหม้ในพื้นที่โล่งทางการเกษตร ณ อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เพื่อติดตามผลการดำเนินการและนำไปสู่การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่มีความเหมาะสมในระยะต่อไป
NEXT STEP : สำนักงาน ก.พ.ร. จะดำเนินการร่วมกับ สกสว. วช. สนช. สวก. เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่ จ. สิงห์บุรี ต่อไป