สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมเรื่อง “Roundtable Workshop on Ten for Thailand” ในวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนรัฐบาลไทยนำโดย หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย เป็นประธานการประชุม นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นายณัฏฐา พาชัยยุทธ ผู้อำนวยการกองกิจการองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐรูปแบบอื่น และ ดร. อภิชน จันทรเสน อนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน (โครงการกิโยติน) และผู้แทนหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทยนำโดย มร. Chris Cracknell ประธานคณะกรรมการบริหารหอการค้าอังกฤษ-ไทย และประธานพันธมิตรหอการค้าต่างประเทศ พร้อมทั้งผู้แทนจากหอการค้าอังกฤษ-ไทย หอการค้าออสเตรเลีย–ไทย หอการค้าเยอรมัน-ไทย และหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย จำนวน 12 คน การประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคของการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของผู้ประกอบการชาวต่างชาติและร่วมกันหารือแนวทางการดำเนินการยกระดับการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจตามข้อเสนอ Ten for Thailand สรุปความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีความคืบหน้าเป็นอย่างมากในการดำเนินการตามข้อเสนอ Ten for Ten ส่งผลให้การประกอบธุรกิจในประเทศไทยมีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็วมากขึ้นสำหรับชาวต่างชาติ ทั้งในเรื่องการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ การออกวีซ่าสำหรับผู้พำนักระยะยาว (Long-term Resident Visa: LTR) การออกมาตรการเพื่อดึงดูดการลงทุน และการปรับปรุงกระบวนการให้บริการดิจิทัลภาครัฐ
2. ควรเร่งแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะประเภทธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มขยายตัวในอนาคต เช่น ธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ธุรกิจซอฟท์แวร์ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ฯลฯ พร้อมทั้งเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนและประกอบธุรกิจในไทยในหลากหลายธุรกิจมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในยุคหลังการระบาดของโรคโควิด-19
3. ควรเร่งปรับปรุงงานบริการภาครัฐให้เป็นดิจิทัลอย่างแท้จริง ส่งเสริมการใช้การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) และการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment)
4. วีซ่าสำหรับผู้พำนักระยะยาว (Long-term Resident Visa: LTR) เป็นมาตรการที่ดีในการดึงดูดนักลงทุนและแรงงานที่มีศักยภาพสูง อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้อาจเป็นแค่การอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวต่างชาติที่ประกอบธุรกิจและอาศัยอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้วเท่านั้น ซึ่งหากไทยต้องการดึงดูดนักลงทุนและแรงงานที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทยมากขึ้น ควรขยายเกณฑ์คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับวีซ่า LTR ให้กว้างกว่านี้
5. ประเทศไทยมีระบบบริการด้านการเงินที่ดี มีการนำ Digital ID มาใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนในการให้บริการด้านการเงินอิเล็กทรอนิกส์ แต่ระบบ Digital ID รองรับการใช้งานแค่คนไทยเท่านั้น จึงควรพัฒนาระบบ Digital ID ให้รองรับการสมัครใช้งานของชาวต่างชาติด้วย เพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถเข้าถึงและใช้ระบบ e-Payment ของประเทศไทยได้ด้วย
6. จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ประชาชนตกงาน และนักลงทุนต่างชาติปิดกิจการและย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน จึงควรเร่งปรับปรุงการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติด้วยการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) พัฒนาทักษะของแรงงานไทยให้สูงขึ้น และออกมาตรการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัวในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันการดึงดูดการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านได้
สำนักงาน ก.พ.ร. จะได้ดำเนินการร่วมกับหอการค้าต่างประเทศ เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจในแต่ละด้านให้ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และจะนำเสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) ต่อไป