เมื่อวันที่ 25 – 27 กรกฎาคม 2565 สำนักงาน ก.พ.ร. ลงพื้นที่ภาคใต้เพื่อติดตามการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 หน่วยงานในส่วนภูมิภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำโดยนายปวิณ ชำนิประศาสน์ นางสาวดารัตน์ บริพันธกุล ผู้ทรงคุณวุฒิ นางขนิษฐา งามวงศ์สถิต ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาระบบราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. ณ จังหวัดตรัง จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา
โดยพบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจจากการตรวจติดตาม ดังนี้
จุดเด่นของหน่วยงาน เช่น
– หน่วยงานมีการทำงานใกล้ชิดกับประชาชนโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการให้คำปรึกษา การให้บริการในเชิงรุก เช่น เทศบาลตรังมีการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่สำหรับผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เทศบาลตำบลเขาเจียก จังหวัด พัทลุง มีการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการพัฒนาความรู้และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ รวมถึงการให้ผู้สูงอายุเป็นเครือข่ายในการแจ้งข่าวสารต่าง ๆ ของทางเทศบาล การจัดทำโครงการธนาคารขยะ ทอดผ้าป่าขยะ เป็นต้น
– หน่วยงานส่วนใหญ่สามารถให้บริการได้ตามที่กำหนดไว้ในคู่มือสำหรับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะเวลาในการให้บริการ รวมทั้งไม่ได้เรียกรับสำเนาจากประชาชน โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับงานทะเบียนราษฎร์
– มีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้ในการบริการ เช่น เทศบาลตรัง มีการยื่นคำร้องผ่านระบบดิจิทัล เทศบาลเมืองพัทลุงมีการจัดทำแอปพลิเคชันที่ทำให้ผู้รับบริการสามารถติดตามข่าวสารของเทศบาล แจ้งและติดตามเรื่องร้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จัดหางานจังหวัดตรัง เน้นการให้บริการการ e-Service รวมถึงการรับจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการสนองนโยบายในการสัมผัสเงินให้น้อยที่สุด ซึ่งสะดวกทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ
ส่วนที่หน่วยงานควรพัฒนา ปรับปรุงเพิ่มเติม หรือมีข้อเสนอแนะของหน่วยงาน เช่น
– บางหน่วยงานยังอยู่ระหว่างการพัฒนาการรับจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การให้บริการจึงเป็นเพียงการรับจ่ายเงินสดเท่านั้น
– กฎหมายบางฉบับยังไม่ได้แก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หรือล้าสมัยไปแล้ว จึงควรมีการปรับปรุงหรือยกเลิก ขณะเดียวกันเมื่อกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงควรมีการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน รวมถึงการจัดทำแนวทางที่ชัดเจนให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
– หน่วยงานท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจมาจากหน่วยงานเจ้าของใบอนุญาต ยังขาดความรู้ ความเข้าใจในการให้บริการที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทางเทคนิค จึงต้องการได้รับการส่งเสริมในแง่ขององค์ความรู้ รวมถึงการสื่อสารอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. จะได้มีการรวบรวมข้อมูลจากการตรวจติดตามการดำเนินการตาม พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกฯ ในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อนำมาเป็นประมวลและนำไปกำหนดเป็นแนวทางการดำเนินการเพื่อพัฒนาการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนต่อไป