![](https://www.opdc.go.th/wp-content/uploads/2024/03/cVB8fDc5NjJ8fGZpbGVfdXBsb2Fk.jpeg)
เมื่อวันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม 2565 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินกิจกรรมประชุมสัมมนาออนไลน์ “ปักหมุดพื้นที่เสี่ยงทุจริต ร่วมคิดหาทางแก้” ซึ่งเป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้แทนของหน่วยงานตรวจสอบการทุจริตในภาครัฐ และนักวิชาการ ได้แก่
1. ว่าที่ร้อยเอกบุญมา แก้วล้วน ผู้ช่วยผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
2. ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยอาวุโส ห้องปฏิบัติการวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
3. นายณัฐภัทร เนียวกุล ผู้จัดการโครงการข้อมูลเปิดเผยเพื่อความโปร่งใส บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด
4. คุณรัฐศาสตร์ ต้องเตือนตน เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตปฏิบัติการ สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดอ่างทอง
ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
* จุดเริ่มต้นของการทุจริตและการมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในประเทศไทย
– พฤติกรรมการทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ที่เกิดจากการถูกหล่อหลอมจากสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม จารีต ประเพณีที่สืบทอดกันมา และคุณภาพของคนในสังคมเริ่มต้นจากการศึกษา
– นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้ประกาศใช้ ทำให้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมีความชัดเจนมากขึ้น และมีการวางกลไกเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อให้ภาครัฐสามารถให้บริการประชาชนได้ด้วยความโปร่งใส เสมอภาค สะดวก และรวดเร็ว
* การพัฒนาประเทศให้โปร่งใสด้วยการใช้เทคโนโลยีและการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Data)
– การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Data) จะทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และการลดระดับการทุจริตในประเทศไทย
– ปัจจุบันประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของรัฐ ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ได้แก่ ภาษีไปไหน ที่รวบรวมข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ และ Act Ai เป็นเครื่องมือในการจับโกง ที่มีการนำ Ai มาช่วยวิเคราะห์ มีระบบตรวจจับ แจ้งเตือน เมื่อพบโครงการที่มีความเสี่ยงที่อาจเกิดการทุจริตขึ้น
– ปัญหาอุปสรรคในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ได้แก่
1. ระดับนโยบาย: ผู้บริหารไม่เห็นความสำคัญและขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการเปิดเผยข้อมูล
2. ระดับปฏิบัติ: เจ้าหน้าที่กังวลว่าการเปิดเผยข้อมูลจะผิดกฎหมาย และการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
3. ด้านข้อมูล: การไม่เห็นความสำคัญของการเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล (Digitized Data) หรือข้อมูลที่เก็บในรูปแบบดิจิทัลแล้ว แต่ยังขาดการทำให้เป็นปัจจุบัน
* การใช้เครื่องมือแจ้งเบาะแสเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน
– Traffy Fondue เป็นเครื่องมือที่เปิดให้ประชาชนแจ้งปัญหาเมือง เช่น ปัญหาขยะ ไฟฟ้า ประปา ถนน ฯลฯ ผ่านแอปพลิเคชัน LINE @traffyfondue สามารถแจ้งได้ทุกพื้นที่ ทุกเวลา โดยระบบจะส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยงานผู้รับผิดชอบดำเนินการแก้ปัญหาได้ทันที
– การดำเนินการต่อไป จะเริ่มทดลองใช้รับร้องเรียนการทุจริตในเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งความท้าทายสำคัญของการรับเรื่องร้องเรียนทุจริต คือ จะต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบ สืบทราบมากกว่าเรื่องร้องเรียนทั่วไป
– นับตั้งแต่มีการใช้ Traffy Fondue ของ กทม. ประชาชนมีความตื่นตัว บอกต่อการใช้งาน เกิดเป็น Active Citizen ที่เข้ามาร่วมแจ้งปัญหากว่าวันละ 3 พันเรื่อง
* การปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่
– การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะเครือข่าย Strong จิตพอเพียงต้านทุจริต มีส่วนสำคัญในการเป็นหูเป็นตาในการดำเนินโครงการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต แต่มีสิ่งที่น่ากังวล คือ ความปลอดภัยของผู้แจ้งเบาะแส
– สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดอ่างทอง ใช้ข้อมูลจากการแจ้งเบาะแสของภาคประชาชนมาประเมินภาพรวมและวิเคราะห์ว่าจุดใดจะเป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดการทุจริต ควบคู่กับการใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มข้อมูลเปิดภาครัฐ เช่น ภาษีไปไหน และทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเป็นการกรองข้อมูลและให้ได้มาซึ่งข้อมูลการทุจริตที่แท้จริง
ปิดท้ายด้วยการร่วมกันระดมความคิดเห็นเพื่อเพิ่มทางออกให้กระบวนการปฏิบัติราชการไทยใสสะอาด โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมกิจกรรม ผ่านโปรแกรม Zoom จำนวน 210 คน และ Facebook Live ของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 732 ครั้ง