เมื่อวันอังคารที่ 24 พฤษภาคม 2565 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 3/2565 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ประธานอนุกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม
ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาและรับทราบเรื่องตามระเบียบวาระที่นำเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) แนวปฏิบัติกระบวนการทางดิจิทัลภาครัฐสำหรับการจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 19 แห่งร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. ซึ่งประกอบด้วย 8 กระบวนการ ตั้งแต่การสืบค้นข้อมูลจนถึงการจัดส่งใบอนุญาตหรือเอกสารอื่น โดยหน่วยงานสามารถดำเนินการได้ตามความพร้อมทางดิจิทัลของแต่ละหน่วยงาน และควรพิจารณาถึงมิติความต้องการของประชาชนในการรับบริการด้วย ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง) แนวปฏิบัติฯ ดังนี้
1.1 แนวปฏิบัติที่กำหนดไว้เป็นกรอบที่ให้หน่วยงานปฏิบัติซึ่งจำเป็นต้องมีรายละเอียดหรือคู่มือปฏิบัติ เพื่อให้การดำเนินการไปสู่เป้าหมายและผลลัพธ์ในทิศทางเดียวกัน มิฉะนั้นจะทำให้เกิดมาตรฐานหรือบรรทัดฐานที่แตกต่างกันของการให้บริการในงานประเภทเดียวกัน
1.2 การสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานเพื่อนำแนวปฏิบัติไปใช้อย่างเหมาะสมนั้น ควรมีตัวอย่างหรือรูปแบบกลางที่หน่วยงานสามารถเลือกไปปฏิบัติได้ ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้หน่วยงานอื่นดำเนินการตามหน่วยงานต้นแบบที่เป็นทั้งหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
1.3 ควรมีการจัดทำ Roadmap ของการพัฒนาตาม (ร่าง) แนวปฏิบัติฯ เพื่อเป็นการกำหนดเวลาในการผลักดันหน่วยงานภาครัฐที่มีความพร้อมที่ต่างกัน ให้พัฒนาระดับขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกัน
2. รับทราบความคืบหน้าการพัฒนางานบริการนำร่องเพื่อยกระดับการบริการให้เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ (Fully Digital Service) จำนวน 5 งานบริการ โดยที่ประชุมมีความเห็นเพิ่มเติมว่า สำหรับงานบริการที่เกี่ยวกับการร้องเรียนร้องทุกข์ ควรนำข้อมูลการร้องเรียนจัดทำเป็นระบบรายงานหรือ Dashboard เพื่อให้ทราบในรายละเอียดว่าเรื่องใดของหน่วยงานใดมีการร้องเรียนเป็นจำนวนมาก และสามารถนำไปปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียดได้ต่อไป
3. รับทราบแนวทางการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐเพื่อรองรับการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่จะต้องประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคนในองค์กรได้รับทราบแนวทางการปฏิบัติตามที่ พ.ร.บ. PDPA กำหนด เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ นำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมาย เช่น การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การจัดทำแบบขอความยินยอม หรือการจัดทำนโยบายและแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมาย เป็นต้น
4. รับทราบแนวทางการบูรณาการแผนเพื่อขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ประเด็นสำคัญคือ (1) การพัฒนาทักษะทางดิจิทัลของบุคลากรภาครัฐและประชาชน (2) โครงสร้างพื้นฐาน (3) การปลดล็อกอุปสรรคและข้อจำกัดด้านกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ (4) นวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ และ (5) ประเด็นด้านการสร้างการรับรู้ โดยที่ประชุมมีความเห็นเพิ่มเติมว่า แนวทางการขับเคลื่อนทั้ง 5 ประเด็น จะช่วยสนับสนุนในเรื่องการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะการลดวิธีทางกายภาพให้น้อยที่สุด ซึ่งจะทำให้เกิดการลดต้นทุนหรือการดำเนินการแบบอัตโนมัติมากขึ้น ตลอดจนการพิจารณาถึงธุรกิจตัวกลางที่ในอนาคตจะมีความสำคัญลดน้อยลง เป็นต้น
5. รับทราบผลการสำรวจความพร้อมในการดำเนินงานด้าน e-Document ของหน่วยงานภาครัฐ ที่ดำเนินการโดย สพธอ. ซึ่งประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่ ด้านนโยบาย ด้านกฎหมาย ด้านการนำไปใช้ ด้านบุคลากร ด้านเทคโนโลยี และด้านงบประมาณ โดยที่ประชุมมีความเห็นเพิ่มเติมว่า
5.1 ควรมีการจัดทำหมวดหมู่ความสำคัญและความจำเป็นของเอกสารที่ต้องใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกโดยผู้ให้บริการ (Certification Authority: CA) และหมวดหมู่ของเอกสารที่ไม่ต้องใช้ CA เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ตัวอย่างเช่น โฉนดที่ดิน ที่มีความสำคัญมากดังนั้นอาจจำเป็นต้องมี CA ในขณะที่งานบริการอื่นอาจไม่จำเป็นต้องมี CA ได้
5.2 สามารถนำเทคโนโลยีอื่นมาใช้แทน CA เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ เช่น เทคโนโลยี blockchain ที่จะนำมาใช้ในการลงนามภายใต้กฎหมายที่รองรับ
5.3 ควรออกกำหนดที่บังคับใช้ให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานสามารถรับและใช้งานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ได้ เนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐยังไม่มีความมั่นใจในการนำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์มาใช้จริง