เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. และคณะผู้บริหารสำนักงาน ก.พ.ร. ได้เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการ ระหว่างสำนักงาน ก.พ.ร. และกระทรวงอุตสาหกรรม ณ ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมี นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในการประชุม และมีผู้บริหารของกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าร่วมประชุม
ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการกับกระทรวงฯ หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบราชการ รวมทั้งจัดกิจกรรมคลินิกให้คำปรึกษาเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการพัฒนาระบบราชการของส่วนราชการในสังกัดกระทรวง โดยสรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้
1. การหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการ เช่น
(>) การปรับเปลี่ยนและการสื่อสารนโยบายการปฏิบัติราชการของกระทรวงตามแนวคิด “MIND” ที่มุ่งใช้หัวและใจปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างสมดุลและยั่งยืน
(>) การยกระดับภารกิจระดับกรมเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่วิถีใหม่ใน 4 มิติ คือ ความสำเร็จทางธุรกิจ การดูแลสังคมและชุมชน การรักษาสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ร่วมกับการกำกับและสนับสนุนอุตสาหกรรมผ่านการขับเคลื่อนองค์กรสู่ดิจิทัลด้วยระบบ i-Industry และศูนย์ข้อมูลกลาง iSingleForm ทำให้เกิดมาตรฐานการทำงานเดียวกันทั้งประเทศ
(>) การบูรณาการบังคับใช้และปรับปรุงกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาจากกิจกรรมทางอุตสาหกรรม เช่น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการเผาอ้อย ร่วมกับการสร้างเครือข่ายการทำงาน โดยเสนอให้มีการใช้กลไกตัวชี้วัดร่วม (Joint KPI) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาทั้งในระดับกระทรวงและในพื้นที่จังหวัด
(>) ประเด็นขอรับการสนับสนุนผลักดันการดำเนินการในการปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการ 4 กรม
2. คลินิกให้คำปรึกษาเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการพัฒนาระบบราชการ โดยสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ให้คำปรึกษาแก่ส่วนราชการในสังกัดกระทรวง ในประเด็นเกี่ยวกับ
(>) การปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในกรม
(>) พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. จะได้มีการหารือในรายละเอียดประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติม และดำเนินงานร่วมกับส่วนราชการในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อไป