เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ประชุมหารือแนวทางการขยายผลรางวัลเลิศรัฐ ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ณ ห้องบัญชาการ ชั้น 2 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เพื่อถอดบทเรียนและหารือการขยายผลงานที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดีเด่น ประจำปี 2565 โดยมี รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์การขยายผล ผู้อำนวยการสสน. (ดร.สุทัศน์ วีสกุล) กล่าวต้อนรับ และรองผู้อำนวยการ สสน. (ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ) ได้นำเสนอภาพรวม การขยายผล นอกจากนี้ในที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นต่าง ๆ จากสำนักงาน ก.พ.ร. และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เพื่อให้มีแนวทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้นและสามารถนำไปขับเคลื่อนการขยายผลให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
- การบริหารจัดการน้ำในชุมชนได้นำเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นเครื่องมือสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแนวพระราชดำริ รัชกาลที่ 9 มาเป็นกรอบแนวคิดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง เพิ่มน้ำต้นทุน มีน้ำสำรองสำหรับอุปโภค บริโภค และการเกษตร สามารถวางแผนเพาะปลูก บริหารการผลิต และรายได้ บริหารความเสี่ยง มีภูมิคุ้มกัน เกิดความมั่นคงและยั่งยืน โดยมีผลการดำเนินการ ใน 1,827 หมู่บ้าน สามารถลดอุทกภัยและภัยแล้ง 3.95 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำ 120 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มผลผลิตในฤดูแล้ง 3,900 ล้านบาท ช่วยรัฐประหยัดค่าชดเชย 7,796 ล้านบาท
- การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเชิงพื้นที่ของพื้นที่ต้นแบบศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดแพร่ บริหารจัดการในภาวะปกติและภาวะวิกฤต วางแผน ฟื้นฟู ดูแล รักษา และพัฒนาติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาเชื่อมโยงข้อมูลจากท้องถิ่นเข้าสู่ส่วนกลางคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติและการจัดการน้ำชุมชน ร่วมกับ อบจ.แพร่ พร้อมสำหรับปฏิบัติการในทุกสถานการณ์
- แนวทางการดำเนินงานและขยายผล สสน. นำหลักร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมจัดการ ทำอย่างไรให้การจัดการน้ำเกิดความยั่งยืน ซึ่งใช้รูปแบบการบริหารและกระบวนการทำงานที่เรียนรู้ความสำเร็จจากผลงานต้นแบบ (เรียนรู้ตัวเอง เรียนรู้ตัวอย่างความสำเร็จ) บริหารวางแผน (ระบบจัดการ คน แกนนำ บริหารระบบคิด และแผนงาน) พร้อมลงมือทำและพัฒนา (พัฒนาโครงสร้าง พัฒนาระบบ) โดยประชาชนนำ รัฐส่งเสริม เอกชนสนับสนุน และสสน. ทำหน้าที่ประสานงาน ถ่ายทอดความรู้ เทคนิคบนฐานเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่
- แนวทางการขยายผลในอนาคต ต้องสร้างความพร้อมในการขยายผลทุกระดับ ผลักดันให้การถ่ายทอดองค์ความรู้การจัดการน้ำไปสู่ชุมชน ท้องถิ่น โดยให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด ทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลน้ำจังหวัด
การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายและประชาชนในการจัดการน้ำ อาศัยการพัฒนากลไกและกระบวนการบริหารจัดการเชิงบูรณาการขึ้นมา เสริมสร้างเครือข่ายการประสานงานและการทำงานร่วมกัน ในการพัฒนาการใช้และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำ รวมถึงการให้ความรู้แก่แกนนำชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพกระบวนการเรียนรู้ นำพาให้การจัดการทรัพยากรน้ำทุกด้านเป็นไปอย่างมีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ในการจัดทำต้นแบบแนวปฏิบัติที่ดี (best practice) ในปี 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. จะดำเนินการเพื่อให้ได้ต้นแบบจำนวน 6 ต้นแบบ และสำนักงาน ก.พ.ร. จะได้จัดประชุมเพื่อให้ได้แนวทาง เพื่อให้หน่วยงานหรือพื้นที่อื่น ๆ นำไปใช้เป็นโมเดลต้นแบบและพัฒนาอย่างต่อเนื่องและขยายผลในวงกว้างต่อไป