เมื่อวันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) เกี่ยวกับการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 2/2566 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ประธาน อ.ก.พ.ร.ฯ เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาและรับทราบเรื่องตามระเบียบวาระที่นำเสนอ ดังนี้
1. พิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับขั้นตอนการพิจารณาขอยกเว้นการดำเนินการเพื่อออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติฯ ซึ่งจะเป็นการดำเนินการภายหลังหากมีการมอบหมายหน่วยงานร่วมกลั่นกรองและพิจารณาคำขอและรายละเอียดเหตุผลความจำเป็นของหน่วยงานที่ยื่นคำขอยกเว้น โดย อ.ก.พ.ร.ฯ มีความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้
1.1 การขอยกเว้นการดำเนินการตามมาตรา 7 ที่เป็นเรื่องต้องดำเนินการเฉพาะตัวนั้น ควรส่งเสริมหน่วยงานให้มีระบบการพิสูจน์ตัวตนในระดับที่เหมาะสมกับธุรกรรมการให้บริการของหน่วยงาน ซึ่งจะช่วยให้สามารถคัดกรองความจำเป็นในการขอยกเว้นการดำเนินการตามมาตรา 7 ได้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยที่หน่วยงานไม่จำเป็นต้องดำเนินการพัฒนาระบบเอง แต่อาจเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มกลางที่มีอยู่ เช่น แพลตฟอร์มการพิสูจน์ตัวตนของกรมการปกครอง เป็นต้น
1.2 การขอยกเว้นการดำเนินการตามมาตราต่าง ๆ หน่วยงานควรมีแผนพัฒนาการให้บริการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาด้วย โดยกำหนดช่วงเวลาที่ขอยกเว้นให้สอดคล้องกับช่วงเวลาของการพัฒนาการให้บริการฯ สำหรับขั้นตอนการพิจารณาขอยกเว้นฯ นั้น ทีม 4 หน่วยงาน (สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)) หรือคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 สามารถชี้แจงและสร้างความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และขอบเขตของการขอยกเว้น ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานสามารถทบทวนลดจำนวนกระบวนงานที่ขอยกเว้น และมีความเข้าใจเกี่ยวกับการขอยกเว้นที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
2. รับทราบการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 รวมทั้งการดำเนินการอื่นที่สนับสนุนการขับเคลื่อนการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้
2.1 การประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมาย ในการมอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติฯ นอกจากนี้ ได้รับทราบความก้าวหน้าของการเสนอวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และการดำเนินการตามมาตรา 22 ในการแจ้งเตือนหน่วยงานของรัฐทุก 15 วัน เพื่อส่งเสริมดำเนินการตามประราชบัญญัติฯ
2.2 ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) สำหรับงานบริการ Agenda สำคัญ 12 งานบริการ ซึ่งผลการดำเนินงานในภาพรวมเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ใน Roadmap โดยมีข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการให้บริการในระยะต่อไป ได้แก่ (1) ให้หน่วยงานหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนงานบริการทั้ง 12 งานบริการ ยกระดับการให้บริการและเชื่อมโยงบริการผ่านแพลตฟอร์มกลาง (2) ให้หน่วยงานเจ้าของฐานข้อมูลเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานอื่น
2.3 การจัดทำข้อมูลหลักของหน่วยงาน (Master Data) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ทำให้เกิดการตกลงมาตรฐาน ข้อกำหนด และแนวทางการจัดทำข้อมูลหลัก ให้ตรงกัน โดยมีการจัดทำชุดข้อมูลอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) ชุดข้อมูลหลักที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ จัดทำโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2) ชุดข้อมูลหลักที่เกี่ยวกับการให้บริการบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ จัดทำโดย สำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งในปัจจุบันสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้ขอความร่วมมือหน่วยงานกรอกข้อมูลผ่านแบบฟอร์มออนไลน์ เพื่อยืนยันรายการชุดข้อมูลหลัก และรายละเอียดรายการต่าง ๆ ภายในเนื้อหาของชุดข้อมูลที่หน่วยงานดูแลอยู่