เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 สำนักงาน ก.พ.ร.ได้จัดประชุมกลุ่มย่อยเรื่องการขับเคลื่อน ตามกรอบการประเมินบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุน (Business Enabling Environment: BEE) ของธนาคารโลก (ด้านที่ตั้งธุรกิจ) กับภาคเอกชนเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับรายงาน BEE และความก้าวหน้าในการดำเนินการของภาครัฐ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีรองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) เป็นประธานการประชุม และมีผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุม โดยมีรายละเอียดการประชุม สรุปได้ดังนี้
1. บทบาทของภาคเอกชนมีผลต่อการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาในการให้บริการภาครัฐ และเป็นผู้ที่ให้ความเห็นแก่ธนาคารโลกในการจัดทำรายงานความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ที่ผ่านมา และในปัจจุบันความเห็นของภาคเอกชนจะมีความสำคัญในการจัดทำรายงาน BEE โดยฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลในรายงาน BEE ในส่วนของการสำรวจระดับองค์กร (Firm-level survey) รวมถึงการให้ข้อคิดเห็นเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาของภาครัฐเพื่อให้เกิดการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ
2. รายงาน BEE ด้านที่ตั้งธุรกิจ (Business Location) เป็นด้านใหม่ในรายงาน BEE โดยมีที่มาจากด้านการของอนุญาตก่อสร้าง (Dealing with Construction Permits) และด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน (Registering Property) ที่เป็นด้านการประเมินในรายงานความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) เดิม แต่จะเพิ่มเติมประเด็นสำคัญ ได้แก่ การนำเทคโนโลยีมาใช้ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และความเสมอภาคทางเพศ และมีรูปแบบการประเมินที่จะประเมินจากคุณภาพของกฎระเบียบ บริการสาธารณะ และประสิทธิภาพการให้บริการ
3. ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนด้านที่ตั้งธุรกิจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการพัฒนาที่น่าสนใจหลายเรื่อง ได้แก่ 1) กรมที่ดินเปิดใช้ระบบจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ต่างสำนักงานแบบออนไลน์ ในพื้นที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร และสาขาทั้ง 17 แห่ง 2) กรมที่ดินมีการเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หนังสือสำคัญของบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ส่งผลให้สำนักงานที่ดินทุกแห่งสามารถเรียกใช้ข้อมูลนิติบุคคลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผ่านระบบศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ (Government Data Exchange (GDX)) 3) กรมที่ดินพัฒนาระบบจองคิวยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและการรังวัดทางอินเทอร์เน็ต (e – Qlands) และ 4) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพัฒนาระบบศูนย์ข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Smart EIA Plus) ซึ่งเป็นระบบการให้บริการข้อมูลด้านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทางอิเล็กทรอนิกส์ สามารถยื่นรายงาน EIA ติดตามสถานะการยื่นรายงาน EIA และพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลในรูปแบบ API ให้หน่วยงานอนุญาตที่เกี่ยวข้องเรียกใช้บริการได้
4. การแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนได้ สรุปได้ดังนี้
- การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับบริการภาครัฐ ในประเด็นดังกล่าวภาคเอกชนเห็นว่าภาครัฐควรสร้างการรับรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของงานบริการและกฎระเบียบใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นให้กับทั้งภาคเอกชน และส่วนราชการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากบางงานบริการใหม่ ๆ ภาคเอกชน รวมถึงภาครัฐที่เป็นผู้ปฏิบัติไม่รับทราบถึงการพัฒนาดังกล่าว ทำให้การใช้งานไม่แพร่หลาย และตัวระบบหรือระเบียบต่าง ๆ ที่ออกมาจะไม่ได้รับข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) เพื่อที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาต่อไปได้
- บริการ e-Service ในประเด็นดังกล่าวภาคเอกชนเห็นว่าระบบ e-Service ของภาครัฐ เช่น การขออนุญาตก่อสร้างอาคารมีการพัฒนาการที่ดี แต่อย่างไรก็ดีควรขยายผลการให้บริการไปยังอาคารประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
- ผังเมืองและการปฏิบัติ ในประเด็นดังกล่าว ภาคเอกชนให้ความเห็นว่าภาครัฐควรมีการปรับผังเมืองให้สอดคล้องกับทิศทางการประกอบธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะการเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจไปสู่รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า BCG โมเดลที่ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy), เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพราะบางพื้นที่ได้กำหนดห้ามดำเนินกิจกรรมหรือตั้งโรงงานในพื้นที่สีเขียว (ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม) ทำให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจดังกล่าว นอกจากนี้ ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงผังเมืองควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและภูมิภาคมีข้อมูลที่ทันสมัยและเป็นชุดเดียวกัน
- อาคารเขียว (Green Building) และอาคารประหยัดพลังงาน (Energy Conservation Building) ประเด็นดังกล่าวภาคเอกชนให้ความเห็นว่าการสนับสนุนการก่อสร้างอาคารดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่างไรก็ดีการก่อสร้างอาคารประเภทดังกล่าวใช้ต้นทุนที่สูงทำให้เป็นเรื่องยากที่ธุรกิจ SME จะสามารถดำเนินได้ นอกจากนี้ การปรับปรุงอาคารเดิมให้เห็นอาคารเขียว และอาคารประหยัดพลังงานเป็นเรื่องที่มีอุปสรรคทางด้านใบอนุญาต เช่น การขอติดตั้ง Solar Rooftop ที่ต้องขออนุญาตหลายหน่วยงานจนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของภาคเอกชน
- การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือEIA) ในเรื่องการขอ EIA ภาคเอกชนมีความเข้าใจว่าต้องมีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อภาคสังคมน้อยที่สุด อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนแสดงความเห็นว่าควรให้มีการประกาศรายละเอียดการประเมิน (Checklist) ให้ชัดเจน และไม่ควรนำเรื่องที่พิจารณาผ่านแล้วจากคณะกรรมการมาพิจารณาซ้ำอีก
นอกจากนี้ในที่ประชุมได้มีการกล่าวถึงการแสดงเอกสารทางราชการตาม พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ด้วย ซึ่งผู้แทนสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ชี้แจงในประเด็นดังกล่าวว่าเป็นไปตามมาตรา 13 ของ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุม สำนักงาน ก.พ.ร. จะรวบรวมและศึกษาในรายละเอียดเพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการปรังปรุงประสิทธิภาพการให้บริการด้านที่ตั้งธุรกิจ และเสนอฝ่ายนโยบาย เพื่อพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. จะรวบรวมประเด็นทั้ง 3 ด้านที่ได้จัดประชุมกลุ่มย่อยไปแล้ว ได้แก่ ด้านแรงงาน ด้านการแข่งขันทางการตลาด และด้านที่ตั้งธุรกิจเพื่อนำไปขับเคลื่อนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรายงานความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องให้กับผู้แทนภาคเอกชนที่เข้าร่วมการประชุมต่อไป