เมื่อวันพุธที่ 19 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.30 น. ได้มีการประชุมคณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางการจัดทำงบประมาณและการบริหารสินทรัพย์ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้เกิดความคล่องตัว ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (แอปพลิเคชัน Zoom)
สืบเนื่องจากคณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางการจัดทำงบประมาณและการบริหารสินทรัพย์ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้เกิดความคล่องตัว ซึ่งมีนางสาวอรนุช ไวนุสิทธิ์ อนุกรรมการฯ เป็นประธานคณะทำงาน และมีอนุกรรมการฯ เป็นคณะทำงาน ประกอบด้วย นางประนอม คำเที่ยง นายธวัชชัย ฟักอังกูร และนายวีระศักดิ์ เครือเทพ และมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสินทรัพย์ของจังหวัดร่วมเป็นคณะทำงาน ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และกรมธนารักษ์ โดยมีรองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางสาวสุรุ่งลักษณ์ เมฆะอำนวยชัย) เป็นคณะทำงานและเลขานุการ และผู้แทนกระทรวงมหาดไทย เป็นคณะทำงานงานและเลขานุการร่วม ได้ร่วมกันหารือ เกี่ยวกับปัญหาข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานเกี่ยวกับการโอนสินทรัพย์ที่เกิดจากงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 โดยมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่จะนำไปสู่การปลดล็อคข้อจำกัดต่อไปในอนาคต ให้ผู้แทนคณะทำงานฯ นำข้อสรุปข้อหารือ ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในที่ประชุมครั้งนี้ หารือและข้อเสนอต่อผู้บริหารที่รับผิดชอบงานดังกล่าวของหน่วยงานของตน เพื่อนำผลสรุปประกอบการพิจารณาของคณะทำงานในครั้งต่อไป
ในการประชุม ครั้งที่ 2/2564 วันนี้ คณะทำงานฯ ได้พิจารณาแนวทางการบริหารสินทรัพย์จังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้เกิดความคล่องตัว แล้วมีมติ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 สินทรัพย์คงค้างสะสม (สะสาง) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 – 2562 ที่ประชุมเห็นควรเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นรากสาเหตุ (Root Cause) ในการโอนสินทรัพย์ที่เกิดจากงบประมาณของจังหวัด ดังนี้
1) กระทรวงมหาดไทย ศึกษาข้อมูลการดำเนินการโอนสินทรัพย์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันกรณี เขื่อน ฝาย ถนน สิ่งปลูกสร้าง (ได้มีการโอนให้กรมชลประทาน กรมทางหลวง หรือกรมทางหลวงชนบท หรือหน่วยงานอื่นๆ ) รวมทั้งปัญหาในการ บำรุง รักษา รวมทั้งหารือกับผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ในการสนับสนุนให้จังหวัดดำเนินการสะสางปัญหานี้
2) กรมธนารักษ์ได้ดำเนินการเพิ่มข้อมูลในระบบการนำส่งขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ โดยเพิ่มเติม “จังหวัดและกลุ่มจังหวัด” ในรายการหน่วยงานผู้นำส่งขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุแล้ว (แม้ว่าจังหวัดและกลุ่มจังหวัด จะไม่ได้มีสถานะเป็น “ส่วนราชการ” ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562)
3) กรมบัญชีกลางรับไปหารือกับผู้บริหารในการดำเนินการพัฒนาระบบบันทึกข้อมูลสินทรัพย์ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด และการจัดทำรายงานพัสดุคงเหลือประจำปี ในระบบ GFMIS เพื่อให้หน่วยงานในจังหวัดสามารถบันทึกข้อมูลแทนจังหวัดได้ เพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน
4) สำนักงาน ก.พ.ร. จะหารือ สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (อ.ก.บ.ภ.) ด้านวิชาการ เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การใช้งบบริหารจัดการและการโอนเปลี่ยนแปลง กรณีใช้เงินเหลือจ่ายของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุง รักษาสินทรัพย์ที่เกิดจากงบจังหวัด และกลุ่มจังหวัด (สศช.กำหนดให้มีการประชุมในวันที่ 21 พ.ค. 2564)
กลุ่มที่ 2 สินทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (สร้างระบบใหม่) ที่ประชุมเห็นควรเสนอแนวทางแก้ปัญหาเชิงระบบ สร้างระบบใหม่ให้มีการบริหารสินทรัพย์ที่เกิดจากงบประมาณของจังหวัด ตั้งแต่ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง ดังนี้
1) สำนักงบประมาณ กำหนดให้มีการระบุวัตถุประสงค์ที่จะมอบสินทรัพย์ให้แก่หน่วยงานในจังหวัดตั้งต้นในนตอนการขอตั้งงบประมาณ ซึ่งจะปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ส่งผลให้หน่วยงานของรัฐเจ้าของงบประมาณสามารถจัดหาและโอนพัสดุให้หน่วยงานนั้นได้ตามที่กฎหมายกำหนด
2) กรมบัญชีกลาง หารือกับผู้บริหารในการดำเนินการพัฒนาระบบบันทึกข้อมูลสินทรัพย์ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ให้สอดคล้องกับการโอนสินทรัพย์ดังกล่าว เพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่า ควรหารือในรายละเอียดของการดำเนินการ โดยรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความชัดเจน และนำเสนอผู้มีอำนาจในเรื่องที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเห็นชอบ เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
อนึ่ง ผลจากการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ จะได้นำเสนอความคืบหน้าดังกล่าวต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น (อ.ก.พ.ร.ฯ) ในการประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม 2564 ต่อไป