เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร) ประธานคณะทำงานฯ รองประธานคณะทำงาน (นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์) รองเลขาธิการ ก.พ.ร. (นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข) นายสุนิตย์ เชรษฐา อนุกรรมการฯ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ประชุมคณะทำงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาภาครัฐระบบเปิด (Open Government Partnership : OGP) ในระดับพื้นที่ ครั้งที่ 2/2564 ผ่านการประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดลำปาง ประกอบด้วย สำนักงานจังหวัด สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาค 2 สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง (ผู้แทนภาคเอกชน) เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ (ผู้แทนภาคประชาสังคม)
รวมทั้ง ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP ประเทศไทย) เข้าร่วมประชุมด้วย
ผลจากการประชุม สรุปได้ดังนี้
1. รับทราบผลการจัดกิจกรรม MY BETTER COUNTRY HACKATHON ครั้งที่ 8 : ลำปางสดใส ลดฝุ่น PM 2.5 จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการวิทยุท้องถิ่น เข้าถึงประชาชน คือ การประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางวิทยุชุมชนโดยใช้ภาษาถิ่นที่เข้าใจง่าย เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ชุมชนในการป้องกันไฟป่าและหมอกควัน (2) โครงการ “CHAT BOT น้องเข้ม” คือ ระบบ AI ที่ใช้สำหรับโต้ตอบอัตโนมัติ เช่น การรับแจ้งเหตุ หรือ การรับแจ้งข้อมูลข่าวสาร และส่งต่อไปยังหน่วยงานผู้รับผิดชอบโดยตรง แทนการใช้บุคคลหรือเจ้าหน้าที่ (Admin) เป็นผู้ตอบ
2. เห็นชอบแผนปฏิบัติการ (Action Plan) และ แผนการดำเนินการ (Road Map) การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดลำปาง
3. เห็นชอบการผลักดันเรื่องการเปิดเผยข้อมูล (Open data) เป็น Quick Win ในการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2564 โดยมีเป้าหมายเพื่อ (1) เปิดเผย สร้างความโปร่งใส ความเชื่อมั่น สร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน (2) เป็นเครื่องมือในการบริหาร ตัดสินใจของภาครัฐ ในลักษณะ Virtual War Room
ทั้งนี้ ผลจากการระดมความคิดเห็น สามารถสรุปข้อมูลเพื่อใช้ในการบูรณาการข้อมูล (Data Integration) เรื่อง PM 2.5 ได้ดังนี้ (1) ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) (2) จุดความร้อน (Hotspot) (3) พื้นที่เผาไหม้/พื้นที่เกิดไฟไหม้ซ้ำซาก (4) สถานการณ์การเผาของประเทศเพื่อนบ้าน (5) สภาพอากาศ/ทิศทางลม (6) ปัญหาสุขภาพของประชาชน เช่น จำนวนผู้ป่วยจากโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ประชากรกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ (7) สถานที่เสี่ยงในพื้นที่ เช่น จุดก่อสร้าง พื้นที่ภาคการเกษตร พื้นที่ภาคอุตสาหกรรม พื้นที่ป่าไม้ (?? ข้อมูลจากภาคเอกชนและภาคประชาชนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 เช่น Bern Check , Line Chatbot Fireman, Sensor ภาคเอกชน , การแจ้งเหตุจากประชาชน ฯลฯ (9) ข้อมูลจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เช่น การลาดตระเวน การจับกุม การดำเนินคดี (10) Timeline และ Time Series เช่น ข้อมูลช่วงการป้องกันเหตุ ช่วงการเผชิญเหตุ และช่วงหลังการเผชิญเหตุ (11) รูปถ่าย กิจกรรมจากการลงพื้นที่ แหล่งข้อมูลต่าง ๆ (12) ข้อมูลเชิงบวกในพื้นที่ (Area) เช่น พื้นที่บริเวณปลูกป่า พื้นที่ฝายชะลอน้ำ พื้นที่ป่าเปียก ฯลฯ (13) ข้อมูลเชิงเรื่องราว (Story) ที่มีการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา PM 2.5
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะจากการประชุม
1. การเปิดเผยข้อมูลจำนวนผู้ป่วยจากโรคทางเดินหายใจ ส่งผลทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักและเข้ามาร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 มากขึ้น
2. ควรมีการดึงภาคเอกชน เช่น โรงไฟฟ้าแม่เมาะ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (SCG) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ภายใต้แนวคิด “การจ่ายค่าตอบแทนบริการระบบนิเวศ” (Payment for Ecosystem Services หรือ PES)
3. ผลจากการเปิดเผยข้อมูลและบูรณกาการข้อมูล เรื่อง PM 2.5 จะส่งผลให้เกิด 3i คือ (1) Integration – เกิดการบูรณาการข้อูล (2) Intelligent – เกิดการนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องและตรงจุด (3) Innovation – เกิดการสร้างนวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
4. ควรส่งเสริมเรื่องการปลูกไม้เศรษฐกิจในพื้นที่ให้มากขึ้น เช่น ไม้จามจุรี ไม้ฉำฉา ไม้สัก ซึ่งปัจจุบันเป็นไม้ที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในระยะยาว จึงเห็นควรให้มีการรณรงค์ปลูกไม้มีค่าเหล่านี้ในทุกพื้นที่
NEXT STEP คือ การหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนา Platform กลางในการเปิดเผยข้อมูลและบูรณาการข้อมูลเรื่อง PM 2.5 ให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2564