สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้
1. ที่ประชุมได้พิจารณาแผนการดำเนินงานโครงการพัฒนาการบริหารจัดการภาครัฐเพื่ออนาคต (Future Government) โดยสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาภาพราชการในอนาคต และจัดทำแนวทางและกลไกการขับเคลื่อนภาพราชการในอนาคต พร้อมทั้งกำหนดประเด็นสำคัญเร่งด่วน (Quick win Agenda) เพื่อนำนวัตกรรมในการบริหารงานภาครัฐมาใช้ในการปลดล๊อคปัญหา เช่น Nudge Unit / Design thinking / Delivery Unit
โดยที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะในการกำหนดประเด็นสำคัญเร่งด่วน ให้พิจารณาถึงปัญหาสำคัญของภาครัฐเป็นหลัก เพื่อเชื่อมโยงสู่แนวทางการแก้ไข เช่น ระบบราชการมีขนาดใหญ่ ปัญหาภาพใหญ่ของระบบราชการ (อาทิ การพัฒนาระบบการรับจ่ายเงินของภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ) ระบบแรงจูงใจของภาครัฐที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน การนำ UX มาออกแบบงานบริการ การปรับแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งยังไม่สามารถเปลี่ยนผ่านลงสู่ระเบียบปฏิบัติ การปรับปรุงระบบตรวจสอบภายในของระบบราชการ และการพัฒนา Super license เป็นต้น
2. ที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2564-2565) ซึ่งประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาบริการภาครัฐเพื่อประชาชน ยุทธศาสตร์ที่ 2 การปรับบทบาทภารกิจโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐให้ทันสมัย ยืดหยุ่น รองรับการเปลี่ยนแปลง ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานภาครัฐ โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในส่วนของการจัดทำเป็น Key Guiding Principle เพื่อให้เห็นทิศทางการขับเคลื่อนระบบราชการใน ปี 2564 – 2565
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ให้ข้อสังเกตสำหรับการดำเนินงานเพื่อพัฒนาระบบราชการในอนาคต ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญใน 2 ระดับ ได้แก่ ระดับภาพรวมของระบบราชการ (Structure Change) เช่น การลดขนาดของระบบราชการ การสร้างแรงจูงใจให้กับข้าราชการในการทำงาน การกระจายอำนาจ เป็นต้น และระดับการดำเนินงาน (Practical Solution) เช่น การพัฒนาระบบการให้บริการโดยเข้าใจถึงความต้องการของผู้รับบริการ (User Experience) การประเมินศักยภาพในเรื่องที่เอกชนสามารถดำเนินการแทนภาครัฐได้ เป็นต้น
3. ที่ประชุมรับทราบบทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบราชการ และให้ข้อเสนอแนะในการวางแนวทางในการกำหนดเป้าหมายร่วมกันในการวางทิศทางการพัฒนาระบบราชการ และควรศึกษาและจัดทำข้อมูลงานที่ทับซ้อนกันของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ต่อไป