1. รับทราบความก้าวหน้าใน 2 ประเด็น ได้แก่ (1) ร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในคราวประชุมเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ ได้กำหนดให้มีวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้หน่วยงานประกาศกำหนดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชน เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงาน และ (2) การรับ – ส่งหนังสือราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งปัจจุบันหลายหน่วยงานได้ใช้ช่องทางดังกล่าวในการรับ – ส่งหนังสือราชการ ทำให้ค่าใช้จ่ายทางไปรษณีย์ของภาครัฐลดลง พร้อมทั้งการจัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่กำหนดให้การติดต่อราชการให้ดำเนินการด้วยระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก เว้นแต่กรณีที่เป็นข้อมูลข่าวสารชั้นลับที่สุด ซึ่งขณะนี้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้จัดส่งร่างระเบียบฯ ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอคระรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว ซึ่ง อ.ก.พ.ร.ฯ มีความเห็นเพิ่มเติมว่าควรพัฒนาให้การรับ – ส่งหนังสือทางอิเล็กทรอนิกส์ครอบคลุมเอกสารทุกประเภท รวมถึงเอกสารที่มีชั้นความลับด้วย นอกจากนี้ควรจัดทำระบบให้มีความปลอดภัยกว่าการรับ – ส่งหนังสือในรูปแบบกระดาษได้อย่างแท้จริง
2. พิจารณาเห็นชอบข้อเสนอการดำเนินการใน 2 ประเด็น ได้แก่
2.1 ข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งเป็นผลที่ได้รับจากการประชุมหารือร่วมกับภาคเอกชน ที่ควรจัดลำดับความสำคัญและคัดเลือกงานบริการเพื่อพัฒนาในรูปแบบดิจิทัลตลอดทั้งกระบวนการ (end – to – end process) โดยให้ผู้แทนภาคเอกชนร่วมพิจารณาจัดลำดับความสำคัญและคัดเลือกรายชื่องานบริการ และ นำไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานบริการดังกล่าว สำหรับการพัฒนางานบริการให้เป็นรูปแบบดิจิทัล ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนาระบบแพลตฟอร์มกลางเพื่อสนับสนุนการให้บริการที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ตรงกับความต้องการของผู้รับบริการอย่างแท้จริง
2.2 แนวทางการขยายผลระบบการให้บริการภาครัฐแก่นิติบุคคลแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) ภายใต้แนวทางการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐในระยะยาว และภาคเอกชนสามารถช่วยพัฒนาความพร้อมของบุคลากรภาครัฐในเชิงความรู้และเทคนิคได้ ทั้งนี้ จะต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าและรูปแบบการลงทุน และความพร้อมและศักยภาพของภาคเอกชนที่จะดำเนินการ ซึ่งสามารถนำแนวทางของต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ มาประยุกต์ปรับใช้ได้ ซึ่งอ.ก.พ.ร.ฯ ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการแนวทางการร่วมลงทุนดังกล่าว ฝ่ายเลขานุการจะได้ศึกษาและจัดทำข้อมูลในรายละเอียดต่อไป